สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยประชาชน ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 21,111 คน เป็นผู้เสนอ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่บทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังไม่ได้ให้ความคุ้มครองผู้ซื้อและผู้ขายอย่างชัดเจนและเพียงพอ โดยเฉพาะกับสินค้าที่ผู้ซื้อไม่อาจพบเห็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าได้ในเวลาซื้อขายหรือส่งมอบสินค้า สมควรกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของความชำรุดบกพร่องของสินค้า สิทธิของผู้ซื้อและผู้ขาย และความรับผิดของผู้ขายตามประเภทของสินค้าให้เกิดความเหมาะสม รวมถึงการเยียวยากรณีสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่อง เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน อันจะเป็นการคุ้มครองผู้ซื้อและผู้ขายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าเสียใหม่ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้

สาระสำคัญโดยสรุป 
การกำหนดเกี่ยวกับคำนิยามที่ใช้ในพระราชบัญญัตินี้ให้เกิดความเข้าใจชัดเจนอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิและหน้าที่ของบุคคล การให้ทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับประกอบด้วย สินค้าที่ใช้แล้ว เว้นแต่สินค้าที่อยู่ในระยะเวลาสันนิษฐานความรับผิดของผู้ขาย สัตว์มีชีวิต และสินค้าตามที่กำหนดในกฎกระทรวง การให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคที่เกิดข้อพิพาทอันเนื่องมาจากความชำรุดบกพร่องของสินค้าตามพระราชบัญญัตินี้สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค การกำหนดความรับผิดของผู้ขายเมื่อมีความชำรุดบกพร่องของสินค้าทั่วไปหรือสินค้ารถยนต์ในเวลาส่งมอบไม่ว่าผู้ขายจะรู้ถึงความชำรุดบกพร่องนั้นหรือไม่ก็ตาม การให้สิทธิผู้ซื้อเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าในการเรียกให้ผู้ขายซ่อมแซม เปลี่ยน ลดราคา คืนเงินเต็มจำนวน เลิกสัญญา หรือปฏิเสธชำระราคาหรือค่างวดสินค้า และกำหนดอายุความการใช้สิทธิของผู้ซื้อเมื่อพบความชำรุดบกพร่องสองปีนับแต่วันพบเห็นความชำรุดบกพร่อง การให้ผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อและผู้รับสินเชื่อตามสัญญาสินเชื่อมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ซื้อ การให้มีสัญญารับประกันระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อที่ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย และการให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแก่สัญญาที่ได้ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย เว้นแต่กรณีรูปแบบและระยะเวลาในการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 19 อายุความตามมาตรา 11 และบทสันนิษฐานตามมาตรา 9 วรรคสองและวรรคสาม  

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

1.1 สำนักนายกรัฐมนตรี 
1.2 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

2.1 สำนักงานศาลยุติธรรม  
2.2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
2.3 สภาองค์กรของผู้บริโภค
2.4 สมาคมเพื่อผู้บริโภคจังหวัดบุรีรัมย์
2.5 สมาคมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา
2.6 มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
2.7 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ จังหวัดลำปาง
2.8 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์จังหวัดลำพูน
2.9 ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดหนองบัวลำภู
2.10 สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น
2.11 สมาคมผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด
2.12 สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคตะวันออก
2.13 ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดอ่างทอง
2.14 สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม
2.15 สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก
2.16 ศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภค จังหวัดราชบุรี
2.17 สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
2.18 สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี
2.19 เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดกระบี่
2.20 สมาคมประชาสังคมชุมพร
2.21 สมาคมผู้บริโภคสงขลา
2.22 สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี
2.23 สมาคมผู้บริโภคสตูล

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
 

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดเกี่ยวกับคำนิยามที่ใช้ในพระราชบัญญัตินี้ให้เกิดความเข้าใจชัดเจนอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิและหน้าที่ของบุคคล  
2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดเกี่ยวกับสิทธิของผู้ซื้อ วิธีการใช้สิทธิและระยะเวลาใช้สิทธิของผู้ซื้อ การดำเนินการของผู้ขายเมื่อผู้ซื้อใช้สิทธิเรียกร้อง การให้ผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อและผู้รับสินเชื่อตามสัญญาสินเชื่อมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ซื้อ การให้มีสัญญารับประกันระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อที่ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย
3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับประกอบด้วย สินค้าที่ใช้แล้ว เว้นแต่สินค้าที่อยู่ในระยะเวลาสันนิษฐานความรับผิดของผู้ขาย สัตว์มีชีวิต และสินค้าตามที่กำหนดในกฎกระทรวง  
4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคที่เกิดข้อพิพาทอันเนื่องมาจากความชำรุดบกพร่องของสินค้าตามพระราชบัญญัตินี้สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
5.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดความรับผิดของผู้ขายเมื่อมีความชำรุดบกพร่องของสินค้าทั่วไปหรือสินค้ารถยนต์ในเวลาส่งมอบไม่ว่าผู้ขายจะรู้ถึงความชำรุดบกพร่องนั้นหรือไม่ก็ตาม 
6.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแก่สัญญาที่ได้ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย เว้นแต่กรณีรูปแบบและระยะเวลาในการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 19 อายุความตามมาตรา 11 และบทสันนิษฐานตามมาตรา 9 วรรคสองและวรรคสาม
7.ท่านเห็นว่าปัจจุบันกระบวนการคุ้มครองกรณีสินค้ามีความชำรุดบกพร่องมีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างไร และการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
8.ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)