สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เป็นผู้เสนอ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

          โดยที่การลงทุนในตราสารหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดําเนินการโดยโปร่งใสเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างแท้จริง การผ่อนผันจากหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสม มิใช่ยกเว้นจนไม่ต้องมีหลักเกณฑ์ และควรให้มีกรรมการผู้สังเกตการณ์จากสภาผู้แทนราษฎรในคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าการดําเนินการต่าง ๆ ตามพระราชกำหนดเป็นไปโดยโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งควรให้รายงานการลงทุนตามพระราชกำหนดต่อรัฐสภาทุกสามเดือน

สาระสำคัญ

          แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทาง เศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 โดยกำหนดให้มีสัดส่วนของกรรมการผู้สังเกตการณ์ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ และกำหนดให้รายงานการลงทุนตามพระราชกำหนดต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน โดยสรุปสาระสําคัญได้ ดังนี้

          1. กำหนดให้การดําเนินการตามพระราชกำหนดฯ ให้มีระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดฯ มีผลใช้บังคับ และกำหนดกรอบการขยายระยะเวลาดังกล่าวไว้ โดยอาจขยายออกไปได้อีกคราวละไม่เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 คราว

          2. กำหนดให้มีกรรมการผู้สังเกตการณ์ในคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ จำนวน 2 คน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร กำหนดอำนาจหน้าที่ การดํารงตําแหน่ง และการพ้นจากตําแหน่งของกรรมการผู้สังเกตการณ์ และกำหนดให้สถานภาพของคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ สิ้นสุดลงเมื่อดําเนินการตามอำนาจหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว (ร่างมาตรา 4)

          3. กำหนดให้สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ของกองทุนเมื่อเทียบกับแหล่งเงินทุนอื่นของผู้ออกตราสารหนี้ในคราวเดียวกัน ต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด และกำหนดกรอบการผ่อนผันของคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ ให้มีอำนาจผ่อนผันให้ลงทุนเกินร้อยละ 50 ได้ แต่ไม่เกินร้อยละ 60 ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด

          4. กำหนดให้ผู้ออกตราสารหนี้มีแหล่งเงินทุนอื่นที่มิใช่กองทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด และกำหนดกรอบการผ่อนผันของคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ ให้มีอำนาจผ่อนผันให้ผู้ออกตราสารหนี้มีแหล่งเงินทุนอื่นที่มิใช่กองทุนน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด

          5. กำหนดให้ในกรณีที่ตลาดตราสารหนี้ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ มีอำนาจที่จะซื้อขายตราสารหนี้ ภาคเอกชนที่มิใช่ตราสารที่ออกใหม่ได้

          6. กำหนดให้กระทรวงการคลังรายงานการลงทุนตามพระราชกำหนดฯ ต่อรัฐสภาทราบ ทุก 3 เดือนนับแต่วันที่พระราชกำหนดฯ มีผลใช้บังคับ และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนและการขายหน่วยลงทุนต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องดําเนินการส่งคำร้องนั้นไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อให้ส่งข้อมูลที่ถูกร้องขอไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับ
คำร้องขอภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องดังกล่าว

 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1.  กระทรวงการคลัง
  2.  ธนาคารแห่งประเทศไทย
  3.  สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
  4.  สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
  5. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้การดําเนินการตามพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทาง เศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 มีระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดฯ มีผลใช้บังคับ และกำหนดกรอบการขยายระยะเวลาโดยอาจขยายออกไปได้อีกคราวละไม่เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 คราว

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีกรรมการผู้สังเกตการณ์ในคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ จำนวน 2 คน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร กำหนดอำนาจหน้าที่ การดํารงตําแหน่ง และการพ้นจากตําแหน่งของกรรมการผู้สังเกตการณ์ และกำหนดให้สถานภาพของคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ สิ้นสุดลงเมื่อได้ดําเนินการตามอำนาจหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ของกองทุนเมื่อเทียบกับแหล่งเงินทุนอื่นของผู้ออกตราสารหนี้ในคราวเดียวกัน ต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด และกำหนดกรอบการผ่อนผันของคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ ให้มีอำนาจผ่อนผันให้ลงทุนเกิน
ร้อยละ 50 ได้ แต่ไม่เกินร้อยละ 60 ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด

4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ผู้ออกตราสารหนี้มีแหล่งเงินทุนอื่นที่มิใช่กองทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด และกำหนดกรอบการผ่อนผันของคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ ให้มีอำนาจผ่อนผันให้ผู้ออกตราสารหนี้มีแหล่งเงินทุนอื่นที่มิใช่กองทุนน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด