สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ เป็นผู้เสนอ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ฉบับนี้มีหลักการและเหตุผลเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หมวด 3 วินัยการเงินการคลัง ส่วนที่ 5 เงินนอกงบประมาณและทุนหมุนเวียน มาตรา 61 วรรคสอง เพื่อกำหนดให้ข้อยกเว้นสำหรับการที่ไม่ต้องนำเงินนอกประมาณของหน่วยงานของรัฐซึ่งต้องนำไปฝากไว้ที่กระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ในกรณีเดียว คือ กรณีที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเท่านั้น โดยมิให้สามารถใช้ข้อยกเว้นกรณีที่หน่วยงานของรัฐสามารถทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างอื่นได้ เนื่องจากมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3-4 / 2557 ได้วางหลักการไว้อย่างชัดเจนในการให้ความหมายของคำว่า “เงินแผ่นดิน” หมายถึง เงินของประชาชนทั้งชาติ โดยหมายความรวมถึงบรรดาเงินทั้งปวง ทรัพย์สิน สิทธิและประโยชน์ที่รัฐเป็นเจ้าของหรืออยู่ในครอบครองของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ* เงินกู้ เงินอุดหนุน เงินบริจาค หรือเงินช่วยเหลือจากแหล่งในประเทศหรือต่างประเทศอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานรัฐนั้น ๆ ด้วยเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเพื่อกำหนดความหมายของคำว่า “เงินแผ่นดิน” ที่มีนัยรวมถึง “เงินนอกงบประมาณ” ฉะนั้น เพื่อให้การใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณซึ่งเป็นเงินแผ่นดินประเภทหนึ่งมีความโปร่งใส่และสามารถตรวจสอบได้จากฝ่ายนิติบัญญัติ จึงควรกำหนดข้อยกเว้นในการที่จะไม่นำเงินนอกงบประมาณไปฝากที่กระทรวงการคลังได้เฉพาะกรณีที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

ดังนั้น เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นตามกลไกของรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างสัมฤทธิ์ผลจึงขอสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งได้มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ มาตรา 61 วรรคสอง โดยให้มีการยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว และให้ใช้บทบัญญัติที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งตัดความในส่วนท้าย คำว่า “หรือได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างอื่น” ออกและให้ใช้ความแทน ซึ่งเมื่อนำการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมากำหนดไว้ในมาตรา 61 วรรคสอง ความเป็นดังนี้
    
“ มาตรา 61 วรรคสอง  เงินนอกงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ ให้นำมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง  เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นหรือได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างอื่น หรือได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างอื่น
    
ทั้งนี้ ให้ร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1.หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย
(1) ส่วนราชการ (ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค)
(2) หน่วยงานของรัฐสภา ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอัยการ
(3) องค์การมหาชน
(4) ทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
(5) หน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กฎหมายกำหนด
2. หน่วยงานของรัฐประเภทรัฐวิสาหกิจ
3. หน่วยงานของรัฐประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4. คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ
5. ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
6. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
7. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
8. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
9. อธิบดีกรมบัญชีกลาง
10. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งให้ยกเลิกความเดิมและแก้ไขเพิ่มเติมโดยตัดความว่า “หรือได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างอื่น” ตามความในบทบัญญัติมาตรา 61 วรรคสอง ส่วนท้ายออก เพื่อกำหนดให้เงินนอกงบประมาณของหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเงินแผ่นดินประเภทหนึ่งที่กฎหมายกำหนดให้ต้องฝากไว้ที่กระทรวงการคลังมีข้อยกเว้นที่ไม่ต้องนำเงินดังกล่าวฝากไว้ที่กระทรวงการคลังได้เพียงประการเดียวคือ กรณีมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเท่านั้น ส่วนกรณีที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทำความตกลงเป็นอย่างอื่นตามหลักการเดิมนั้นไม่ให้สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณเป็นสำคัญ