โดยที่ปัจจุบันระบบบำเหน็จบำนาญทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน ทำให้มีข้อจำกัดในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลหลายด้าน ส่งผลให้เป้าหมายที่รัฐต้องการส่งเสริมให้ทุกคนมีเงินออมที่เพียงพอเพื่อใช้ในยามเกษียณนั้นเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นจึงสมควรจัดให้มีคณะกรรมการการออมเพื่อการเกษียณแห่งชาติ เพื่อเป็นองค์กรกลางในการบริหารจัดการระบบบำเหน็จบำนาญให้มีเอกภาพ ภายใต้หลักการการมีส่วนร่วมและธรรมาภิบาล เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงหลักประกันพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยให้มีอำนาจกำกับดูแล กำหนดนโยบายและแผนงานเกี่ยวกับการออมเพื่อการเกษียณของประชาชน ให้ครอบคลุมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพในระบบประกันสังคม และกองทุนการออมอื่นอันมีลักษณะและวัตถุประสงค์เป็นการออมเพื่อการเกษียณที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้มีสวัสดิการพื้นฐานด้านการออมเพื่อการเกษียณ ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและเพียงพอเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในยามชราภาพให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามอัตภาพ จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการการออมเพื่อการเกษียณแห่งชาติ พ.ศ. .... ขึ้น
สาระสำคัญ
ให้มีกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการออมเพื่อการเกษียณแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการการออมเพื่อการเกษียณแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า "คอช.” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนกองทุนการออมแห่งชาติ ผู้แทนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และผู้แทนสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หน่วยงานละหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านการออม ด้านการลงทุน และด้านระบบบำเหน็จบำนาญ ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการตามวิธีการที่กำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีด้านละหนึ่งคน เป็นกรรมการ โดยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการจำนวนสองคน และเลขานุการ ให้คัดเลือกจากคณะกรรมการ ตามวิธีการที่กำหนดโดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
2. กำหนดให้คณะกรรมการการออมเพื่อการเกษียณแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย กำกับดูแล ควบคุม ส่งเสริมและพัฒนาระบบหลักประกันการออมเพื่อการเกษียณ ออกระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับเกี่ยวกับการพนักงาน ระบบพนักงานสัมพันธ์ การบรรจุแต่งตั้ง ถอดถอน และวินัยพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน การกำหนดเงินเดือนและเงินอื่น ๆ รวมตลอดถึงการสงเคราะห์และสวัสดิการต่าง ๆ พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้และปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
3. กำหนดให้มี "คณะอนุกรรมการวิชาการ” จำนวนเจ็ดคน โดยให้คณะกรรมการการออมเพื่อการเกษียณแห่งชาติ สรรหาจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงานในด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านการออม ด้านการลงทุน และด้านระบบบำเหน็จบำนาญ อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะด้านการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล ส่งเสริมและพัฒนาระบบหลักประกันเพื่อการเกษียณต่อคณะกรรมการ และปฏิบัติการในเรื่องอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
4. กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานขึ้นเรียกว่า "สำนักงานคณะกรรมการการออมเพื่อการเกษียณแห่งชาติ” และให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยสำนักงานมีอำนาจและหน้าที่ในการปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ รับ เก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบการออมเพื่อการเกษียณ จัดทำร่างนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาระบบหลักประกันเพื่อการเกษียณ เสนอต่อคณะกรรมการ และกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามและดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้
5. กำหนดให้มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการออมเพื่อการเกษียณแห่งชาติโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้แต่งตั้ง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ โดยให้คัดเลือกจากผู้มีความรู้ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงานบริหารองค์กรขนาดใหญ่ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับการพิจารณาต่อสัญญาจ้างใหม่ได้ โดยวิธีประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาตลอดอายุสัญญาจ้างตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
6. กำหนดให้การประกอบธุรกิจที่ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของกิจการมีวัตถุประสงค์เป็นการจัดการออมเพื่อการเกษียณ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ การขอรับและเพิกถอนใบอนุญาต การขอความเห็นชอบ และการให้ความเห็นชอบตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ ตลอดจนเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ หรือคำสั่งที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดจากการสั่งการ หรือการกระทำของบุคคลใด หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
7. กำหนดให้บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ หลักเกณฑ์ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการออมเพื่อการเกษียณที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบ ที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ทั้งนี้การดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบดังกล่าว ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
1. กระทรวงการคลัง