สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายเซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานไทยในปัจจุบันให้สอดคล้องกับสิทธิของผู้ใช้แรงงาน คุณภาพการดำรงชีวิต และสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ใช้แรงงานโดยรวม เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มเวลาสำหรับผู้ใช้แรงงานให้สามารถพัฒนาตนเองได้ โดยสอดรับกับการพัฒนาสู่เศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

     1. กระทรวงแรงงาน

     2. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

     3. กระทรวงพาณิชย์

     4. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

     5. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

     6. ภาคประชาสังคม

          - สหภาพแรงงาน

          - มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน

          - มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

          - มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน

          - มูลนิธิสัมมาอาชีวะ

          - สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย                    

     7. ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “นายจ้าง” “ลูกจ้าง” และ “วันลา” ให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อาทิ การจ้างงานในสัญญาต่าง ๆ การมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน สัญญาให้รวมถึงทั้งสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรและสัญญาที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ตลอดจนเพิ่มบทนิยาม คำว่า “การจ้างงานรายเดือน” เป็นการจ้างงานที่มีลักษณะเป็นงานประจำและเต็มเวลา โดยลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อันรวมถึงค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาป่วยตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ หนึ่งเดือนหมายถึงเดือนจำนวนวันตามปฏิทิน

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมให้การจ้างงานมีความเท่าเทียมในทุกด้าน ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่กีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ โดยเหตุความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม ความคิดเห็นทางการเมือง หรือทำการอื่นใดให้ผู้อื่นไม่ได้รับสิทธิอันเขาพึงได้ตามกฎหมาย

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมให้เวลาทำงานของลูกจ้าง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง เว้นแต่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับสถานประกอบการที่มีการจ้างงานรายวันและรายเดือน นายจ้างจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมดโดยไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่ลักษณะการจ้างงานที่มีความเฉพาะได้แก่ งานในภาคเกษตร งานก่อสร้าง งานที่ไม่มีความต่อเนื่อง ใช้แล้วเสร็จไปหรือไม่ใช่ธุรกิจหลักของนายจ้าง ให้ใช้ระบบสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาโดยรับรองรายรับไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและให้ได้รับสวัสดิการเท่ากับพนักงานระบบอื่นของนายจ้าง โดยผู้ทำงานเป็นรายวัน หรือรายชิ้น ต้องมีสัญญาจ้างงาน เมื่อคิดหน่วยทำงานต้องได้รับผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าพนักงานรายเดือน อย่างน้อย 1 ฉบับ

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า 2 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 5 วัน

     6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วัน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 10 วันทำงาน และกำหนดให้ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่า 10 วันก็ได้ และนายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งยังทำงานไม่ครบ 120 วัน

     7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มบทบัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิลาไปดูแลบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลอื่นใดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่พำนักอยู่ในโรงพยายาลในฐานะผู้ป่วยใน หรือผู้ป่วยที่มีความต้องการการดูแลทางร่างกายและจิตใจ ปีละไม่เกิน 15 วันทำงาน

     8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มเติมบัญญัติให้นายจ้างต้องจัดให้มีสถานที่ที่เหมาะสมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อให้ลูกจ้างสามารถให้นมบุตรหรือบีบเก็บน้ำนมในที่ทำงาน ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ๆ ละ 30 นาที ในช่วงเวลา 8 ชั่วโมงของการทำงาน ตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี หลังคลอด

     9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมต่อค่าครองชีพและเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

     10. ท่านเห็นว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาอย่างไรบ้าง และเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมตามร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว จะสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้หรือไม่ อย่างไร

     11. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)