สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น รอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี
ร่างพระราชบัญญัติกิจการฮัจย์ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกิจการฮัจย์

     โดยมีเหตุผลเนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 ได้บัญญัติเรื่องการอำนวยความสะดวกดูแลการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ และการควบคุม การจัดบริการเกี่ยวกับกิจการฮัจย์ยังไม่รัดกุมเพียงพอจึงสมควรจัดตั้งสำนักงานกิจการฮัจย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ โดยให้มีกองทุนส่งเสริมกิจการฮัจย์เป็นกองทุนหมุนเวียนในสำนักงานกิจการฮัจย์ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินการอันจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการฮัจย์ และให้ผู้ประกอบการจัดบริการกิจการฮัจย์จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน สนับสนุนให้สมาชิกออมทรัพย์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และโอนการสนับสนุนทางการเงินของรัฐ โดยเปลี่ยนจากการให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐมารวมให้แก่กองทุนนี้เพียงแห่งเดียว รวมทั้งกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานกิจการฮัจย์เพื่อการประสานงานกับรัฐบาลของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการสนับสนุนและส่งเสริมกิจการฮัจย์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

     ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้

     1. กำหนดให้จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำชาวไทยที่ไปประกอบพิธีฮัจย์ และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ 1) ให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการเกี่ยวกับการไปประกอบพิธีฮัจย์ 2) สอดส่องดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ 3) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 6 และร่างมาตรา 7) และกำหนดให้ผู้ประกอบการจัดบริการกิจการฮัจย์ต้องเป็นนิติบุคคลและได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ การอนุญาต การวางหลักประกัน และการหักหลักประกันชดใช้ผู้เสียหาย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ประกอบการจัดบริการกิจการฮัจย์ซึ่งได้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีการในการประกอบการหรือการคุ้มครองผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 8) รวมถึงกำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ของผู้ประกอบการจัดบริการกิจการฮัจย์ในระหว่างเวลาทำการเพื่อตรวจสอบการดำเนินการ โดยการตรวจสอบดังกล่าวจะต้องไม่ใช่เป็นการตรวจค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 9 และร่างมาตรา 11)

     2. กำหนดให้มีคณะกรรมการกิจการฮัจย์ โดยมีอำนาจหน้าที่ เช่น กำหนดนโยบายและแผนการส่งเสริมกิจการฮัจย์ เสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ พิจารณาอนุมัติแผนการดำเนินงานและแผนการเงินของสำนักงาน รวมทั้งควบคุมดูแล โดยทั่วไปซึ่งการดำเนินงานของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ออกระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 13 และร่างมาตรา 18) และกำหนดให้ในแต่ละปีให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งคณะผู้แทนฮัจย์ทางการขึ้นคณะหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในสองเดือนนับแต่วันเริ่มต้นเดือนมูฮัรรอม โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ต่าง ๆ เช่น ประสานกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย อำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทางไปทำฮัจย์ ดำเนินการใด ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย เป็นต้น (ร่างมาตรา 21 และร่างมาตรา 25)

     3. กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานกิจการฮัจย์มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีอำนาจหน้าที่กระทำการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง 1) จัดให้ได้มาถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ 2) ก่อตั้งสิทธิหรือการทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร 3) ลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสำนักงาน โดยต้องไม่ขัด
กับหลักการของศาสนาอิสลาม 4) กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน (ร่างมาตรา 26) และกำหนดให้สำนักงานมีเลขาธิการหนึ่งคน และรองเลขาธิการอีกไม่เกินสองคน และให้เลขาธิการมีหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ (ร่างมาตรา 29)

     4. กำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมกิจการฮัจย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงานของสำนักงาน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดบริการเกี่ยวกับการให้ความปลอดภัย การรักษาพยาบาล และประสานงานอื่น ๆ แก่ชาวไทยที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ โดยครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยงานอื่นที่ให้การช่วยเหลืองานของกิจการฮัจย์ แต่ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ผู้เดินทางต้องจ่ายให้ผู้ประกอบการจัดบริการฮัจย์ และรายได้ของกองทุนและของสำนักงานให้นำส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้ในกิจการตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และให้สำนักงานจัดทำงบการเงินส่งผู้สอบบัญชีตรวจสอบภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี และทำรายงานแสดงผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งให้ส่งงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วให้กระทรวงการคลังทราบด้วย (ร่างมาตรา 36 ร่างมาตรา 39 และร่างมาตรา 40) และกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารและจัดการกองทุน และอำนาจหน้าที่อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด (ร่างมาตรา 44 และร่างมาตรา 45)

     5. กำหนดโทษซึ่งมีทั้งโทษจำคุก โทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ประกอบการจัดบริการกิจการฮัจย์ ไม่ได้เป็นนิติบุคคลและไม่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 48) กรณีไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจเข้าไปในสถานที่ของผู้ประกอบการจัดบริการกิจการฮัจย์ในระหว่างเวลาทำการเพื่อตรวจสอบการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 51) กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการซึ่งเรียกมาให้ถ้อยคำ หรือแจ้งให้ส่งเอกสารหรือวัตถุที่จำเป็นแก่การดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ (ร่างมาตรา 52) และกรณีคณะกรรมการ คณะผู้แทนฮัจย์ทางการ หรือพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต (ร่างมาตรา 53)

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

     1. กระทรวงการคลัง

     2. กระทรวงการต่างประเทศ

     3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

     4. กระทรวงมหาดไทย

     5. กระทรวงวัฒนธรรม

     6. กระทรวงสาธารณสุข

     7. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

     8. สำนักงบประมาณ

     9. กรมประชาสัมพันธ์

     10. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

     11. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

     12. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

     13. สำนักจุฬาราชมนตรี

     14. คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

     15. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำชาวไทยที่ไปประกอบพิธีฮัจย์ หากจุฬาราชมนตรีไม่ประสงค์จะเดินทางไป ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อให้เสนอชื่อต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้ง ตามร่างมาตรา 6 และให้มีอำนาจหน้าที่ ตามร่างมาตรา 7 หรือไม่ อย่างไร

     2. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้ประกอบการจัดบริการกิจการฮัจย์ต้องเป็นนิติบุคคลและได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามร่างมาตรา 8 หรือไม่ อย่างไร

     3. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ของผู้ประกอบการจัดบริการกิจการฮัจย์ ตามร่างมาตรา 9 และต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง ตามร่างมาตรา 11 หรือไม่ อย่างไร

     4. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการกิจการฮัจย์ ตามร่างมาตรา 13 และให้มีอำนาจหน้าที่ ตามร่างมาตรา 18 หรือไม่ อย่างไร

     5. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ในแต่ละปีให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งคณะผู้แทนฮัจย์ทางการขึ้นคณะหนึ่ง ให้แล้วเสร็จภายในสองเดือนนับแต่วันเริ่มต้นเดือนมูฮัรรอม ตามร่างมาตรา 21 โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ต่าง ๆ ตามร่างมาตรา 25 หรือไม่ อย่างไร

     6. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานกิจการฮัจย์มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีอำนาจหน้าที่กระทำการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ ตามร่างมาตรา 26 หรือไม่ อย่างไร

     7. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมกิจการฮัจย์ โดยมีวัตถุประสงค์ ตามร่างมาตรา 36 รวมถึงกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารและจัดการกองทุน และอำนาจหน้าที่อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ตามร่างมาตรา 44 - ร่างมาตรา 45 หรือไม่ อย่างไร

     8. ท่านเห็นว่าการประกอบกิจการฮัจย์ตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมกิจการอัจย์มีปัญหาหรือมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร

     9. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)