ร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๖๐ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า การป้องกันการผูกขาด การทำงานเชิงรุกของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า รวมถึงการแก้ไขที่มาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าให้ยึดโยงกับประชาชนมากยิ่งขึ้น
โดยพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๖๐ ยังมีข้อจำกัดในการบังคับใช้ จนทำให้หน่วยงานกำกับดูแลไม่สามารถเอาผิดกับผู้ประกอบการที่ปฏิบัติทางการค้าไม่เป็นธรรมได้ และไม่สามารถป้องกันการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม จนทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มจะมีสภาพตลาดแข่งขันที่จำกัด สมควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า เพื่อปรับปรุงกระบวนการคัดเลือก ขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ และเพิ่มความโปร่งใสในการทำงานของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า รวมถึงการเพิ่มมาตรการป้องกันการผูกขาดและการมีอำนาจเหนือตลาด และขยายสิทธิของผู้เสียหายที่ถูกผลกระทบจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารประกอบ)
ผู้ที่เกี่ยวข้อง
- กระทรวงพาณิชย์
- กระทรวงอุตสาหกรรม
- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
- สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า
- สำนักงานส่งเสริมการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
- สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย
- สมาคมผู้ค้าปลีกไทย
- ประชาชนทั่วไป
ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดมิให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับกับการกระทำของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เฉพาะที่คณะกรรมการกำหนดว่าดำเนินการตามความจำเป็นเพื่อความมั่นคงและสาธารณประโยชน์เท่านั้น และมิให้บังคับใช้กับการกระทำของธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า หรือไม่
- ท่านเห็นด้วยกับคำนิยามของคำว่า “ผู้ประกอบการธุรกิจ” และคำว่า “ผู้ประกอบการซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด” หรือไม่
- ท่านเห็นด้วยกับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และผลแห่งการกระทำเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ต้องรับโทษในราชอาณาจักร หรือไม่
- ท่านเห็นด้วยกับองค์ประกอบ คุณสมบัติของคณะกรรมการ และกรรมการจะต้องแต่งตั้งจากบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีมติให้กรรมการคนใดพ้นจากตำแหน่งได้ หรือไม่
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้การจัดทำรายงานประจำปีของคณะกรรมการและสำนักงาน เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือไม่
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ประธานกรรมการ กรรมการ และเลขาธิการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือไม่
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มและคำวินิจฉัยรายบุคคลของคณะกรรมการต่อสาธารณชนหรือไม่
- ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดอายุความ ๔ ปี ในการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย หรือไม่
- ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)