สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยประชาชน เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นางสาวคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 22,251 คน
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

          โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 ได้บัญญัติให้บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายมีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน มาตรา 29 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย มาตรา 41 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ การเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดมาตรา 43 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน และมาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยรวมถึงบุคคลผู้ยากไร้ และมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งสอดคล้องกับการกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 55 มาตรา 57 มาตรา 58 และมาตรา 59

          ด้วยสถานการณ์ปัญหาหมอกควันพิษ และมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ “พีเอ็ม 2.5” เป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในต่างประเทศ เช่น The Great Smog ในอังกฤษ หรือวิกฤติหมอกควันใหญ่ในจีน แต่เป็นเรื่องใหม่ในความรับรู้ของสังคมไทย โดยเริ่มมีการกล่าวถึงกันมากขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ส่งผลอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน ดังจะเห็นได้จากการที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเดือนถึงผลร้ายที่สำคัญ คือ การทำให้คนที่มีโรคระบบการหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ ทั้งโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหืด และโรคถุงลมโป่งพอง และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบรุนแรงแบบภัยเงียบต่อสุขอนามัยของประชาชนและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กหญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และผู้ทำงานในที่โล่ง และโดยที่การแพร่กระจายของหมอกควันพิษในราชอาณาจักรไทยได้ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ อนามัย และชีวิตของประชาชนเป็นที่ประจักษ์อยู่ในปัจจุบันซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิต สิทธิในสุขภาพ และสิทธิของเด็ก อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองคุ้มครองในฐานะสิทธิมนุษยชนทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในของนานาอารยประเทศ รวมถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายภายในอีกหลายฉบับ

          นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็เห็นความสำคัญของการรับรองและคุ้มครองสิทธิในชีวิต สิทธิในสุขภาพ และสิทธิของเด็กในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จนในที่สุดได้มีพัฒนาการเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ รับรองสิทธิทั้งสามประการในสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น โดยการนำความสัมพันธ์ของสิทธิทั้งสองมาปรับใช้ในนามสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด ซึ่งรัฐทุกรัฐมีพันธกรณีในการคุ้มครอง เคารพ และทำให้เติมเต็มแก่บุคคลทุกคนเช่นเดียวกับสิทธิมนุษยชน

          อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษในประเทศไทย คือ ความไม่เพียงพอของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันในการเข้ามาป้องกัน ควบคุม และกำกับดูแลสาเหตุต้นน้ำของปัญหาหมอกควันพิษ ที่มาจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ตลอดจนกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมหมอกควันพิษที่มีอยู่นั้น ล้วนเป็นกฎหมายที่ริเริ่มจากภาครัฐเป็นผู้บัญญัติขึ้น เมื่อนานมาแล้ว และยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ โดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างเต็มที่ อีกทั้งเนื้อหาบางส่วนไม่ทันสมัยโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชนในด้านสิ่งแวดล้อม ความไม่ทันสมัยของการกำหนดมาตรฐานคุณภาพทางอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปการไม่มีกฎหมายหลักในการบริหารจัดการรองรับระบบฐานข้อมูลและรายงานข้อมูลการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษ และการกำหนดมาตรฐานของมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดมลพิษระหว่างหน่วยงานที่แตกต่างกัน

          นอกจากนั้นแล้ว ยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ระบบ องค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆที่ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต่างฝ่ายต่างทำภายใต้กฎหมายแต่ละฉบับที่ให้อำนาจ ซึ่งกฎหมายแต่ละฉบับก็ยังคงมีความกระจัดกระจาย ขาดการบูรณาการที่ต้องตอบสนองต่อการทำงานของระบบนิเวศที่ต้องไม่แยกส่วนจากกัน ทั้งในระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ทำให้การแก้ปัญหาหมอกควันพิษ รวมทั้งปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบและทันท่วงที อันส่งผลต่อการรับรองคุ้มครองสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดของประชาชนที่บุคคลทุกคนพึงมี ซึ่งรัฐต้องมีหน้าที่เคารพ ปกป้อง และทำให้สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดของบุคคลเกิดขึ้นได้จริงอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งต้องอำนวยการและกำกับดูแล
การจัดการร่วมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐ และระหว่างหน่วยงานของรัฐกับภาคประชาสังคมในรูปแบบการจัดการร่วม ตลอดจนการกำหนดให้มีเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการที่เป็นต้นเหตุสำคัญของการก่อหมอกควันพิษ ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ในเอกสารประกอบ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1.  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  2.  กระทรวงคมนาคม
  3.  กระทรวงการคลัง
  4.  กระทรวงมหาดไทย
  5.  กระทรวงอุตสาหกรรม
  6.  กระทรวงสาธารณสุข
  7.  ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้สิทธิของบุคคลในการได้รับอากาศสะอาดได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องอำนวยการและกำกับดูแลการจัดการร่วมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐ และระหว่างหน่วยงานของรัฐกับภาคประชาสังคม
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับคุณภาพของอากาศและผลกระทบของคุณภาพอากาศที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และมีส่วนร่วมกับรัฐในการกำหนดนโยบาย จัดทำกฎหมาย กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ตลอดจนสิทธิในการเข้าถึงและได้รับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม
  4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการร่วมนโยบายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ  คณะกรรมการกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ คณะกรรมการบริหารเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด คณะกรรมการกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ และองค์การอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ (อ.อ.ส.ส.) เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนแม่บทฯ การประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนแม่บทฯ การกำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตาม เร่งรัด สนับสนุน และให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ควบคุมดูแลกองทุน และกำกับดูแล ติดตาม และดำเนินการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการที่เชื่อมโยงมิติสุขภาพกับสิ่งแวดล้อม
  5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการให้มีเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด ได้แก่ ภาษีเพื่ออากาศสะอาด เงินบำรุงกองทุน ค่าธรรมเนียมการจัดการหมอกควันพิษ ระบบฝากไว้ได้คืนการกำหนดสิทธิและการโอนสิทธิในการปล่อยหมอกควันพิษ การประกันความเสียหาย ตลอดจนมาตรการส่งเสริม สนับสนุน และมาตรการอื่น ๆ
  6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดโทษทางอาญาตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ อย่างไร
  7. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)