สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นการเสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๓๓ (๒) โดยมีบทบัญญัติทั้งหมด จำนวน ๒๓ มาตรา ซึ่งกฎหมายนี้มีหลักการเพื่อเพิ่มอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดทำบริการขนส่งสาธารณะและมีบทบาทในการจัดการระบบขนส่งสาธารณะในท้องที่ของตนเองได้มากยิ่งขึ้น อันเป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับการปกครองในลักษณะการกระจายอํานาจ (Decentralization) เพื่อถ่ายโอนอำนาจในการปกครองที่เกี่ยวข้องกับภารกิจ ทรัพยากร รวมถึงงบประมาณ จากภาครัฐส่วนกลางไปให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารจัดการภารกิจบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำบริการสาธารณะมีความเป็นอิสระ คล่องตัว และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น

ทั้งนี้ มีเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ให้มีการจัดทำแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบัญญัติสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกลไกของกฎหมายนี้ได้บัญญัติให้มีการจัดทำ “แผนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” และ “แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยแผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการถ่ายโอนภารกิจของราชการส่วนกลางไปยังราชการส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตามแม้ที่ผ่านมาจะมีการถ่ายโอนภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณะด้านการขนส่งทางบกซึ่งเป็นรูปแบบการขนส่งหลักที่ประชาชนต้องใช้บริการแล้ว โดยได้อนุญาตให้จัดตั้งและจัดให้มีสถานีขนส่งผู้โดยสารภายในเขตจังหวัดและการให้มีใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเขตจังหวัด แต่การถ่ายโอนดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน เช่น การบริหารจัดการสถานีขนส่งผู้โดยสาร พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารได้เฉพาะสถานีขนส่งผู้โดยสาร แต่ไม่มีอำนาจในการบังคับรถโดยสารเข้าใช้สถานี จึงต้องให้ส่วนราชการถ่ายโอนอำนาจการเป็นนายสถานีขนส่งผู้โดยสารให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายโอนให้มีหน้าที่และอำนาจดังกล่าวด้วย เป็นต้น[ 1] ซึ่งสาเหตุที่การถ่ายโอนภารกิจดังกล่าวยังไม่สำเร็จนั้นส่วนหนึ่งมาจากพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ยังมิได้มีแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับการถ่ายโอนภารกิจ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้

อ่านเพิ่มเติม คลิก "เอกสารประกอบ" ด้านล่าง

 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  2. อธิบดีกรมการขนส่งทางบก
  3. อธิบดีกรมทางหลวง
  4. อธิบดีกรมทางหลวงชนบท
  5. ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
  6. ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด
  7. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
  8. ผู้แทนสภากรุงเทพมหานคร
  9. ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง  กรุงเทพมหานคร
  10. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
  11. ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด
  12. ผู้อำนวยการแขวงทางหลวง
  13. ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทจังหวัด
  14. ประธานหอการค้าจังหวัด
  15. นายกเทศมนตรีนคร หรือนายกเทศมนตรีเมือง
  16. นายกเทศมนตรีตำบล หรือนกยกองค์การบริหารส่วนตำบล
  17. นายกเมืองพัทยา
  18. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อเพิ่มอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดทำบริการขนส่งสาธารณะและมีบทบาทในการจัดการระบบขนส่งสาธารณะในท้องที่ของตนเอง อันเป็นไปตามร่างพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ อย่างไร
  2. ท่านเห็นด้วยกับการเพิ่มหลักการเพื่อกำหนดให้มี “คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกรุงเทพมหานคร” ซึ่งมีการกำหนดองค์ประกอบ อำนาจและหน้าที่ และผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ ตามร่างมาตรา 5 และการแก้ไขเพิ่มเติมความหมายของนิยามคำว่า “คณะกรรมการ” ให้มีนัยรวมถึง “คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกรุงเทพมหานคร” ตามร่างมาตรา 3 รวมถึงการกำหนดให้นำมาตราต่าง ๆ มาใช้บังคับกับคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกรุงเทพมหานคร โดยอนุโลม ตามร่างมาตรา 8 หรือไม่ อย่างไร
  3. ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของ “คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด” ทุกจังหวัดตามร่างมาตรา 6 และเห็นด้วยกับการกำหนดที่มาของ “ผู้แทนเทศบาลนครและเทศบาลเมืองในเขตจังหวัด” และ “ผู้แทนเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตจังหวัด” ซึ่งเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด ตามร่างมาตรา 7 หรือไม่ อย่างไร
  4. ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางไม่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการขนส่งทางบกในเขตกรุงเทพมหานคร ตามร่างมาตรา ๙ หรือไม่ อย่างไร
  5. ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดตามร่างมาตรา 10 หรือไม่ อย่างไร
  6. ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกรุงเทพมหานครและคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด มีอำนาจตั้งคณะอนุกรรมการ ตามร่างมาตรา 11 หรือไม่ อย่างไร
  7. ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อมิให้เฉพาะคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเท่านั้นที่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติในการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางตามร่างมาตรา 12 หรือไม่ อย่างไร
  8. ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ประกอบการรับจัดการขนส่งต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามร่างมาตรา 13 หรือไม่ อย่างไร
  9. ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่งตามร่างมาตรา 14 หรือไม่ อย่างไร
  10. ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดให้มีสถานีขนส่ง การกำหนดค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่ง และการจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งโดยบุคคลอื่นใด ตามร่างมาตรา 16 หรือไม่ อย่างไร
  11. ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นอาจได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ได้ตามร่างมาตรา 4 และเพื่อให้ประธานคณะกรรมการมีอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ และให้บุคลากรสังกัดราชการส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นนายสถานีและเจ้าหน้าที่สถานีด้วยก็ได้ตามร่างมาตรา 17 หรือไม่ อย่างไร
  12. ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้การบริหารงานเกี่ยวกับสถานีขนส่งรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยและให้ประธานคณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเพื่อดูแลควบคุมและดำเนินการเกี่ยวกับสถานีขนส่งก็ได้ ตามร่างมาตรา 18 หรือไม่ อย่างไร
  13. ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมกรณีกำหนดอายุของใบอนุญาตตามร่างมาตรา 19 กรณีกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าบริการตามร่างมาตรา 20 และกรณีกำหนดให้ผู้ขับรถที่ได้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการตามร่างมาตรา 21 ซึ่งให้ “คณะกรรมการ” ตามนัยของร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นผู้กำหนด หรือไม่ อย่างไร
  14. ท่านมีความเห็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ อย่างไร