โดยปัจจุบันผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีอายุยืนยาว ซึ่งเงินสวัสดิการที่รัฐให้กับประชาชนเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ของประชาชนผู้สูงอายุ มีการให้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น การมีหลักประกันทางรายได้ถือว่าเป็นสิทธิที่จำเป็น และต้องมีจำนวนที่พอเพียงเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต พึ่งตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตด้วยสิทธิที่เสมอกันภายใต้หลักการ สวัสดิการเป็นสิทธิอันพึงมีของประชาชนที่มิใช่เป็นหน้าที่ของรัฐในการสงเคราะห์ไม่มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำกัน ไม่มีความแตกต่างในระหว่างประชากรอาชีพต่าง ๆ จะทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมและมีความเป็นอยู่ที่ดี จึงสมควรที่รัฐจะจัดให้มีเงินบำนาญประชาชนเพื่อให้ประชาชนที่มีอายุหกสิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไปมีสิทธิได้รับเงินบำนาญประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
(1) ชื่อร่างพระราชบัญญัติ และวันที่มีผลบังคับใช้ (มาตรา ๑ และมาตรา ๒)
(2) กำหนดคำนิยามศัพท์ “เงินบำนาญประชาชน” “คณะกรรมการ” “กรรมการ” “สำนักงาน” และ “กองทุน” (มาตรา 3)
(3) กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง และระเบียบ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 4)
(4) กำหนดหมวด 1 บททั่วไป หน้าที่ของรัฐในการจัดให้มีเงินบำนาญประชาชน ซึ่งกำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญประชาชน การยื่นคำขอโดยกำหนดให้สำนักงานบำนาญประชาชนมีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและหลักฐานของผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญประชาชน และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญประชาชนให้ทราบโดยทั่วกัน กำหนดวิธีการจ่ายเงิน โดยจะจ่ายเป็นรายเดือน ๆ ละหนึ่งครั้งในอัตราเดือนละสามพันบาท ตามที่คณะกรรมการกำหนดวิธีการจ่ายเงินบำนาญประชาชน และกำหนดการสิ้นสุดการได้รับเงินบำนาญประชาชน ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญประชาชนถึงแก่กรรม ขาดคุณสมบัติหรือแจ้งสละสิทธิการขอรับเงิน โดยให้กระทรวงการคลังสั่งระงับการจ่ายเงินทันทีเมื่อสิทธิได้รับเงินดังกล่าวสิ้นสุดลง (มาตรา 5 ถึงมาตรา 9)
(5) กำหนดหมวด ๒ คณะกรรมการเงินบำนาญประชาชน โดยให้มีกรรมการโดยตำแหน่งกรรมการคัดเลือกจากองค์กรเอกชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กำหนดคุณสมบัติของกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ องค์ประชุม การมีส่วนได้เสียของกรรมการ และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะด้าน การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุมและการได้รับประโยชน์ตอบแทนของคณะอนุกรรมการเฉพาะด้าน (มาตรา 10 ถึงมาตรา 21)
(6) กำหนดหมวด 3 สำนักงานบำนาญประชาชน โดยให้มีสำนักงานบำนาญประชาชนในกระทรวงการคลัง มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงการคลัง กำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานบำนาญประชาชน และให้มีรองผู้อำนวยการสำนักงานบำนาญประชาชนจำนวนสองคน เพื่อปฏิบัติงานตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานบำนาญประชาชนมอบหมายและตามที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 22 ถึงมาตรา 23)
(7) กำหนดหมวด 4 กองทุนเงินบำนาญประชาชนและคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยให้มีกองทุนเงินบำนาญประชาชน กำหนดทรัพย์สินของกองทุน ซึ่งเงิน ดอกเบี้ย และทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุน ทั้งนี้ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของกองทุน และทำรายงานของการสอบบัญชีของกองทุนต่อคณะกรรมการ (มาตรา 24 ถึงมาตรา 32)
(8) กำหนดหมวด 5 บทกำหนดโทษ (มาตรา 33)
(9) กำหนดบทเฉพาะกาล (มาตรา 34)