โดยที่มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานจึงมีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการและหน่วยงานการศึกษาให้ครอบคลุมภารกิจ ผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ตอบสนองความต้องการของชาติและของโลก เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ต่อภาคประชาชนและภาคเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการมีเอกภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นมีอิสระในการปฏิบัติงาน บริหารจัดการตามภารกิจเฉพาะให้เกิดความคล่องตัว กระจายอํานาจ ภารกิจงานไม่ซ้ำซ้อน ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังรองรับความเจริญก้าวหน้าของสังคมและโลกในปัจจุบัน ลดสายงานบังคับบัญชาของหน่วยงานทางการศึกษา การจัดสรรและแบ่งปันทรัพยากรทางการศึกษาถึงผู้เรียนที่เร็วขึ้นและลดขั้นตอนให้สั้นลง ส่งเสริมความเป็นเอกภาพในส่วนราชการระดับกระทรวงศึกษาธิการที่ร่วมรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษาทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น รวมทั้งเอื้อให้สถานศึกษาได้มีพลังขับเคลื่อนที่มากขึ้น ใช้หลักความรับผิดชอบร่วมกันต่อคุณภาพการศึกษาในองค์รวม มีความอิสระในการบริหารจัดการ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพ ผู้เรียนให้เป็นพลเมืองและพลโลกที่มีคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งสอดคล้องกับการ เปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่ทรงพลังในการจัดการศึกษาของชาติอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ประเด็นประกอบการพิจารณา
1) กำหนดให้ยกเลิกกฎหมายดังต่อไปนี้ (ร่างมาตรา 3)
- พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2556
- พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553
- พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
- คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2559 เรื่อง การบริหารจัดการรวม สถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2559
- คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษา ในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560
- พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 ในส่วนที่ 3 สภาสถาบันและผู้บริหาร สถาบัน ส่วนที่ 4 ตําแหน่งทางวิชาการ และส่วนที่ 5 ปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะ
2) มีการกำหนดบทนิยาม (ร่างมาตรา 4) โดยมีการกำหนดความหมายของสํานักงานรัฐมนตรี หน่วยงานการศึกษาระดับจังหวัด สภาการศึกษาจังหวัด สํานักงานศึกษาธิการจังหวัด สถานศึกษาของรัฐที่ไม่เป็นนิติบุคคล สถานศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคล คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐที่ไม่เป็นนิติบุคคล คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐที่ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นต้น
3) มีการกำหนดการจัดระเบียบบริหารราชการในส่วนกลาง โดยแบ่งออกเป็น สำนักงานปลัดกระทรวง และส่วนราชการที่มีหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้หน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการมีฐานะเป็นนิติบุคคลในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ และกำหนดให้คณะกรรมการต่างๆ
มีหน้าที่และอำนาจดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 9 - 21)
4) กำหนดอำนาจหน้าที่และของปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หน้าที่และอำนาจของสำนักงานปลัดกระทรวง การแบ่งส่วนราชการในสำนักปลัดกระทรวง และกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนในสำนักงานปลัดกระทรวงมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 25 - 30)
5) กำหนดให้มีคณะกรรมการสภาการศึกษาจังหวัดทุกจังหวัด มีหน้าที่และอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด และให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเป็นสำนักงานเลขานุการสภาการศึกษาจังหวัด (ร่างมาตรา 31 - 32)
6) กำหนดให้มีการจัดระเบียบราชการในสำนักงาน โดยสํานักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการครู สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่มีหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อาจแบ่งส่วนราชการภายในสํานักงานเพิ่มเติมรวมทั้งกําหนดหน้าที่และอํานาจของเลขาธิการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของสํานักงาน และให้
สํานักอํานวยการมีหน้าที่และอํานาจเกี่ยวกับราชการทั่วไปของสํานักงานและราชการที่มิได้แยกให้เป็นหน้าที่ของสํานักงานหรือส่วนราชการใดโดยเฉพาะ และให้สํานักบริหารงานเป็นส่วนราชการของสํานักงานทําหน้าที่เป็นหน่วยบริหารงานทั่วไปของคณะกรรมการที่ทําหน้าที่กําหนดนโยบายหรือประสานงานหรือบริหารงานบุคคล (ร่างมาตรา 33 - 36)
7) กำหนดให้มีคณะกรรมการประสานส่งเสริมการประถมศึกษา คณะกรรมการประสานส่งเสริมการมัธยมศึกษา คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาพิเศษ ในสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการส่งเสริมการอาชีวศึกษาเอกชน ในสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา มีหน้าที่และอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด
(ร่างมาตรา 37 - 39)
8) กำหนดให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในส่วนจังหวัด โดยแบ่งออกเป็น สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานระดับจังหวัดที่มีหัวหน้าหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการ (ร่างมาตรา 41)
9) กำหนดให้มีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด มีหน้าที่และอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 42 - 43)
10) กำหนดให้มีสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด สำนักงานศึกษาเอกชนจังหวัด สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และกำหนดให้มีสถาบันอาชีวศึกษาประจำจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด สำนักงานส่งเสริมอาชีวศึกษาเอกชนจังหวัด สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (ร่างมาตรา 44 - 47)
11) กำหนดให้มีคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษามีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 49)
12) กำหนดให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในสถานศึกษา โดยแบ่งออกเป็น สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษาอาชีวศึกษา การจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยมีโครงสร้าง ภาระหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 51 - 66)