สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการปรับโครงสร้างทางด้านการบริหารจัดการศึกษาของชาติให้มีความเป็นเอกภาพสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสังคมและเศรษฐกิจและสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง จึงได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูกระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐที่มีข้าราชการครูในสังกัดโดยมีการกำหนดให้มีความเป็นเอกภาพในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูให้เป็นเอกภาพ ในแต่ละส่วนราชการหรือหน่วยงานการศึกษา ไม่ซับซ้อน มีความเป็นอิสระ เน้นการกระจายอำนาจ รวดเร็ว มีการกำหนด องค์กรกลางบริหารงานบุคคลเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารอัตรากำลัง ให้สอดคล้องกับความต้องการของบริบทในแต่ละส่วนและสถานศึกษาต่อการพัฒนาผู้เรียน รวมถึงมีการกำหนดวินัยและการรักษาวินัย หน่วยงานหรือองค์กรพิทักษ์คุณธรรม สร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการครู ให้มีพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนต่อไป

สาระสำคัญ

               1. ยกเลิกพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/256๐
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/256๐ เรื่อง การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู
ลงวันที่ 21 มีนาคม 256๐ เฉพาะที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และบรรดาบทกฎหมายหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 3)

          2. กำหนดให้คำว่า “ข้าราชการครู” ตามกฎหมายอื่น ให้หมายความรวมถึงข้าราชการครูตามกฎหมายนี้ด้วย (ร่างมาตรา 5)

          3. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 6)

หมวด 1 คณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู

          4. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู เรียกว่า “คณะกรรมการข้าราชการครู” เรียกโดยย่อว่า “ก.ค.” โดยกำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หน้าที่และอำนาจ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู โดยชื่อย่อว่า “สำนักงาน ก.ค.” มีเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครู เรียกโดยย่อว่า “เลขาธิการ ก.ค.” เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบริหารราชการ (ร่างมาตรา 7 ถึงมาตรา 2๐)

          5. กำหนดให้มีและกำหนดองค์ประกอบคณะอนุกรรมการข้าราชการครูประจำส่วนราชการ เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.ค. ส่วนราชการ” (ร่างมาตรา 21) และกำหนดหน้าที่และอำนาจ (ร่างมาตรา 22 ถึงมาตรา 27)

          6. กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูประจำสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาพิเศษ  เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.ค.สศศ. มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารงานบุคคลภายในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาพิเศษ (ร่างมาตรา 28 ถึงมาตรา 29)

          7. กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูประจำจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.ค.จังหวัด” มีหน้าที่และอำนาจการบริหารงานบุคคลภายในจังหวัด (ร่างมาตรา 3๐ ถึงมาตรา 31)

          8. กำหนดให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐที่ไม่เป็นนิติบุคคล มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูในสถานศึกษา (ร่างมาตรา 33)

              8.1 กำหนดวิธีการประชุมของอ.ก.ค. ส่วนราชการ อ.ก.ค.ศ. จังหวัด อ.ก.ค.สศศ.  และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐที่ไม่เป็นนิติบุคคลและเป็นนิติบุคคล โดยให้นำความในมาตรา 16 มาใช้บังคับโดยอนุโลม (ร่างมาตรา 34)

              8.2 กำหนดหน้าที่และอำนาจของศึกษาธิการจังหวัด (ร่างมาตรา 35) และหน้าที่และอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ร่างมาตรา 36)

              8.3 กำหนดให้ผู้บริหารการศึกษาหรือหัวหน้าหน่วยงานระดับจังหวัดที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเทียบเท่า นอกจากตามมาตรา 35 และมาตรา 36 เป็นผู้บริหารราชการในหน่วยงานการศึกษานั้น และเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการครูในหน่วยงานการศึกษานั้น (ร่างมาตรา 37)

              8.4 กำหนดให้ผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้บริหารส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเทียบเท่าสถานศึกษาเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการครูในสถานศึกษา และมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

                    (1) ควบคุม ดูแล ให้การบริหารงานบุคคลในสถานศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค. อ.ก.ค.ส่วนราชการ และตามที่ อ.ก.ค.จังหวัด กำหนดแล้วแต่กรณี

                    (2) พิจารณาเสนอความดีความชอบของข้าราชการครูในสถานศึกษา

                    (3) พิจารณาการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูสายงานปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ตามที่ได้รับจัดสรรจากส่วนราชการต้นสังกัด รวมถึงดำเนินการทางวินัย ลงโทษทางวินัย การสั่งให้ออกหรือสั่งพักราชการ แก่ข้าราชการครูโดยได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคล ตามระเบียบที่ อ.ก.ค.ส่วนราชการกำหนด

                    (4) ส่งเสริม สนับสนุนข้าราชการครูในสถานศึกษาให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

                    (5) จัดทำมาตรฐาน ภาระงานสำหรับข้าราชการครูในสถานศึกษา

                    (6) ประเมินผลการปฏิบัติงานตามมาตรฐานของข้าราชการครู เพื่อเสนอ อ.ก.ค.จังหวัด

                    (7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ กฎหมายอื่น และตามที่ อ.ก.ค.จังหวัด อ.ก.ค.ส่วนราชการ มอบหมายแล้วแต่กรณี (ร่างมาตรา 38)

              8.5 กำหนดให้ ก.ค. ตั้ง อ.ก.ค. เพื่อทำหน้าที่บริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูในส่วนราชการอื่น ที่มิใช่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ (ร่างมาตรา 39)

          หมวด 2 คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการครู

          9. กำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการครูคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า“ก.พ.ค.” ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยให้เลขาธิการ ก.ค. เป็นเลขานุการของ ก.พ.ค. และให้เลขาธิการ ก.ค. แต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานก.ค. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ไม่เกินสองคน (ร่างมาตรา 4๐)

          1๐. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ก.พ.ค. และองค์ประกอบของคณะกรรมการคัดเลือก ตลอดจนการพ้นจากตำแหน่ง (ร่างมาตรา 41 ถึงมาตรา 46)

          11. กำหนดหน้าที่และอำนาจของ ก.พ.ค. ดังนี้

          (1) เสนอแนะต่อ ก.ค. และ อ.ก.ค.ส่วนราชการ เพื่อให้ ก.ค. และ อ.ก.ค.ส่วนราชการดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารงานบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม

          (2) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 147

          (3) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามมาตรา 149

          (4) พิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรมตามมาตรา 153

          (5) ออกกฎ ก.พ.ค. ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎ ก.พ.ค. เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

          (6) พิจารณาตั้งอนุกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาอุทธรณ์ อนุกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร้องทุกข์ อนุกรรมการอื่นตามความเหมาะสม หรือที่ปรึกษาตามความจำเป็นเพื่อช่วยเหลือกลั่นกรองงานหรือตรวจสอบข้อมูลแทน ก.พ.ค.(ร่างมาตรา 47)

          หมวด 3 บททั่วไป

          12. กำหนดให้การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยยึดถือระบบคุณธรรม ความเสมอภาคระหว่างบุคคล และหลักการได้รับการปฏิบัติและการคุ้มครองสิทธิอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน (ร่างมาตรา 5๐)

            13. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ซึ่งจะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู (ร่างมาตรา 51)

            14. กำหนดให้อัตราเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครู ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครู (ร่างมาตรา 52)

          15. กำหนดให้คณะรัฐมนตรีสามารถวางระเบียบและวิธีการให้กระทรวงการคลังหักเงินเดือนของข้าราชการครูเป็นเงินสะสมเพื่อประโยชน์ในการออมทรัพย์ของข้าราชการครูได้ (ร่างมาตรา 53)

          16. กำหนดให้ข้าราชการครูอาจได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งในบางท้องที่ หรือบางสภาพการทำงาน ตำแหน่งในบางสายงาน หรือตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตามระเบียบที่ ก.ค. กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และอาจได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว ตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (ร่างมาตรา 54 และมาตรา 55)

          17. กำหนดให้วันเวลาทำงาน วันหยุดราชการตามประเพณี วันหยุดราชการประจำปี และการลาหยุดราชการของข้าราชการครู ให้เป็นไปตามที่ ก.ค. กำหนด (ร่างมาตรา 56)

          18. กำหนดให้เครื่องแบบของข้าราชการครูและระเบียบการแต่งเครื่องแบบ ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการนั้น (ร่างมาตรา 57)

          19. กำหนดให้บำเหน็จบำนาญข้าราชการครู ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น (ร่างมาตรา 58)

          หมวด 4 การกำหนดตำแหน่ง วิทยฐานะและการให้ได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง

          2๐ กำหนดให้ตำแหน่งข้าราชการครู มี 6 ประเภท ดังนี้

                ก. ตำแหน่งผู้ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้สอนในสถานศึกษา

                ข. ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา

                ค. ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา

                ง. ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาในระดับส่วนราชการ

                จ. ตำแหน่งศึกษานิเทศก์

                ฉ. ตำแหน่งนักพัฒนาการศึกษา (ร่างมาตรา 59)

          21. กำหนดให้ตำแหน่งข้าราชการครู เป็นตำแหน่งที่มีมีวิทยฐานะ (ร่างมาตรา 6๐)

          22. กำหนดให้ตำแหน่งคณาจารย์ (1) อาจารย์ (2) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (3) รองศาสตราจารย์ (4) ศาสตราจารย์
เป็นตำแหน่งทางวิชาการในสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่สอนในระดับปริญญา (ร่างมาตรา 61)

          23. กำหนดให้การมีตำแหน่งข้าราชการครูจำนวนเท่าใดในหน่วยงานการศึกษาและต้องใช้คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งอย่างใด ให้เป็นไปตามที่ ก.ค. กำหนด (ร่างมาตรา 62)

          24. กำหนดให้ อ.ก.ค.ส่วนราชการ อาจเสนอแนะให้ ก.ค. กำหนด ตำแหน่งข้าราชการครู จะมีในหน่วยงานการศึกษาใด จำนวนเท่าใด และต้องใช้คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจ ประเภท เป้าหมายและเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ กฎหมายการศึกษาแห่งชาติ (ร่างมาตรา 63)

          25. กำหนดให้ ก.ค. จัดทำมาตรฐานตำแหน่ง มาตรฐานวิทยฐานะ และมาตรฐานตำแหน่งทางวิชาการของข้าราชการครูไว้เป็นบรรทัดฐานทุกตำแหน่ง ทุกวิทยฐานะเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน (ร่างมาตรา 64)

          26. กำหนดให้ ก.ค. หรือ อ.ก.ค.ส่วนราชการ หรือผู้ที่ ก.ค. มอบหมายตรวจสอบการกำหนดตำแหน่งและการใช้ตำแหน่งข้าราชการครูให้เหมาะสม (ร่างมาตรา 65)

          27. กำหนดให้ข้าราชการครูได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครู (ร่างมาตรา 66)

          หมวด 5 การบรรจุและการแต่งตั้ง

          28. กำหนดให้การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู ให้บรรจุและแต่งตั้งจากผู้สอบแข่งขันได้สำหรับตำแหน่งนั้น โดยบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ (ร่างมาตรา 67) และผู้สมัครสอบแข่งขันต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 51 และต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรฐานตำแหน่งตามมาตรา 64 (ร่างมาตรา 68)

          29. กำหนดให้ ก.ค. เป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดให้มีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง บุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู โดยให้ อ.ก.ค.ส่วนราชการ เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครู และในกรณีที่ อ.ก.ค. ส่วนราชการ เห็นสมควร จะมอบหมายให้ อ.ก.ค. จังหวัด หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.สศศ. หรือสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล หรือส่วนราชการหรือหน่วยงานการศึกษาเป็นผู้ดำเนินการตามวรรคสองก็ได้ (ร่างมาตรา 69) และอ.ก.ค. จังหวัด หรือ อ.ก.ค.สศศ. หรือ อ.ก.ค. ส่วนราชการ อาจรับสมัครสอบแข่งขันเฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติพิเศษในสาขาวิชาใดได้ (ร่างมาตรา 7๐)

          3๐. กำหนดให้ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง มาตรา 73 มาตรา 74 มาตรา 88 มาตรา 89 มาตรา 9๐ และมาตรา 91 หากภายหลังปรากฏว่าผู้นั้นขาดคุณสมบัติทั่วไป หรือขาดคุณสมบัติตามมาตรฐานตำแหน่งตามมาตรา 64 หรือขาดคุณสมบัติพิเศษตามมาตรา 7๐ อยู่ก่อนก็ดี หรือมีกรณีต้องหาอยู่ก่อนและภายหลังปรากฏว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติเนื่องจากกรณีต้องหานั้นก็ดี ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 76 สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการโดยพลัน แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามหน้าที่และอำนาจและการรับเงินเดือน หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับจากทางราชการก่อนมีคำสั่งให้ออกจากราชการนั้น และถ้าการเข้ารับราชการเป็นไปโดยสุจริตแล้ว ให้ถือว่าเป็นการสั่งให้ออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ร่างมาตรา 71)

               31. กำหนดให้ข้าราชการครูที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง วิทยฐานะ หรือตำแหน่งทางวิชาการใด
ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตามที่ ก.ค. กำหนดไว้ในมาตรฐานตำแหน่ง มาตรฐานวิทยฐานะหรือมาตรฐานตำแหน่งทางวิชาการ (ร่างมาตรา 72)

          32. กำหนดให้กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษที่ อ.ก.ค.จังหวัด หรือ อ.ก.ค.สศศ. หรือสถานศึกษา
ขั้นพื้นฐานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล หรือ อ.ก.ค. ส่วนราชการ หรือส่วนราชการ หรือหน่วยงานการศึกษา
ไม่สามารถดำเนินการสอบแข่งขันได้ หรือการสอบแข่งขันอาจทำให้ไม่ได้บุคคลต้องตามประสงค์ของทางราชการ
อ.ก.ค.จังหวัด หรือ อ.ก.ค.สศศ. หรือสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล หรือ อ.ก.ค. ส่วนราชการ หรือส่วนราชการ หรือหน่วยงานการศึกษา อาจคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูโดยวิธีอื่นได้
(ร่างมาตรา 73)

          33. กำหนดให้หน่วยงานการศึกษาใดมีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แก่ราชการ
ที่จะต้องบรรจุและแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความรู้ ความสามารถ มีความชำนาญหรือเชี่ยวชาญระดับสูงเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครู ให้หน่วยงานการศึกษาดำเนินการขอความเห็นชอบจาก อ.ก.ค.จังหวัด หรือ
อ.ก.ค.สศศ. หรือสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล แล้วให้ขออนุมัติจาก อ.ก.ค.ส่วนราชการ
เมื่อ อ.ก.ค. ส่วนราชการ ได้พิจารณาอนุมัติให้สั่งบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งใด วิทยฐานะใด และกำหนดเงินเดือนที่จะให้ได้รับแล้ว ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 72 สั่งบรรจุและแต่งตั้งได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ อ.ก.ค. ส่วนราชการ กำหนดแล้วรายงานต่อ ก.ค. โดยเร็ว (ร่างมาตรา 74)

          34. กำหนดให้นอกจากการบรรจุและแต่งตั้งเพื่อให้บุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู อ.ก.ค. ส่วนราชการ อาจเสนอแนะให้ ก.ค. กำหนดให้ตำแหน่งข้าราชการครู บางตำแหน่งเป็นสัญญาจ้างปฏิบัติงานรายปีหรือโดยมีกำหนดเวลาตามระเบียบที่ อ.ก.ค. ส่วนราชการ กำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง หรือเป็นพนักงานราชการ โดยไม่ต้องเป็นข้าราชการได้ (ร่างมาตรา 75)

          35. กำหนดให้ภายใต้บังคับมาตรา 67 วรรคหนึ่ง มาตรา 73 มาตรา 74 มาตรา 82 มาตรา 88 มาตรา 89 มาตรา 9๐ และมาตรา 91 การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครู ต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งตามมาตรานี้ (ร่างมาตรา 76)

          36. กำหนดให้ข้าราชการครูมีวิทยฐานะใด และการเลื่อนเป็นวิทยฐานะใดต้องเป็นไปตามมาตรฐานวิทยฐานะตามมาตรา 64 ซึ่งผ่านการประเมิน ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความประพฤติด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ ประสบการณ์ คุณภาพการปฏิบัติงาน ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในด้านการเรียน การสอน ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ อ.ก.ค. ส่วนราชการ กำหนด โดยความเห็นชอบจาก ก.ค. (ร่างมาตรา 77)

          37. กำหนดให้มีการประเมินตำแหน่งหรือวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพื่อดำรงตำแหน่งหรือวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการ หรือความเชี่ยวชาญในตำแหน่งและวิทยฐานะที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ อ.ก.ค.
ส่วนราชการ กำหนด โดยความเห็นชอบจาก ก.ค. (ร่างมาตรา 78)

          38. กำหนดให้ข้าราชการครูที่มีวิทยฐานะใด และไม่ได้ขอกำหนดให้มีวิทยฐานะสูงขึ้น มีผลการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นที่ประจักษ์หรือรับราชการและดำรงตำแหน่ง
วิทยฐานะดังกล่าวเป็นเวลานานเกินสิบปี และไม่เคยเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อตนเองและต่อทางราชการ อาจได้รับการแต่งตั้งให้มีวิทยฐานะสูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง (ร่างมาตรา 79)

          39. กำหนดให้ผู้ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย และนักพัฒนาการศึกษาฝึกปฏิบัติการ เตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มเป็นเวลาสองปีก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูหรือนักพัฒนาการ แล้วแต่กรณี (ร่างมาตรา 8๐)

          4๐. กำหนดให้การเปลี่ยนตำแหน่ง การย้ายและการโอนของข้าราชการครู ให้เป็นไปตามที่ อ.ก.ค. ส่วนราชการ กำหนด โดยความเห็นชอบจาก ก.ค. (ร่างมาตรา 81)

          41. กำหนดให้การโอนพนักงานส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่มิใช่พนักงานวิสามัญ และการโอนข้าราชการอื่นที่มิใช่ข้าราชการครูตามพระราชบัญญัตินี้และมิใช่ข้าราชการการเมือง มาบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู อาจทำได้หากบุคคลนั้นสมัครใจ โดยให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 76 ของหน่วยงานการศึกษาที่ประสงค์จะรับโอนทำความตกลงกับผู้มีอำนาจสั่งบรรจุของส่วนราชการหรือหน่วยงานสังกัดเดิม แล้วเสนอเรื่องให้ ก.ค. หรือ อ.ก.ค. ส่วนราชการ หรือ อ.ก.ค.จังหวัด หรือ
อ.ก.ค.สศศ. หรือคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลแล้วแต่กรณี อนุมัติโดยให้คำนึงถึงประโยชน์ที่หน่วยงานการศึกษานั้นจะได้รับเป็นสำคัญ (ร่างมาตรา 82)

          42. กำหนดให้การย้ายข้าราชการครูที่ไปดำรงตำแหน่งในหน่วยงานการศึกษาอื่นภายในส่วนราชการหรือภายในเขตพื้นที่การศึกษาหรือต่างเขตพื้นที่การศึกษาให้เป็นอำนาจของผู้มีอำนาจตามมาตรา 76 โดยอนุมัติ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ อ.ก.ค.จังหวัด หรือ อ.ก.ค.สศศ. หรือ อ.ก.ค. ที่ ก.ค. ตั้ง หรือ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลหรือคณะกรรมการสถานศึกษาอาชีวของรัฐที่เป็นนิติบุคคล แล้วแต่กรณี เมื่อ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ อ.ก.ค.จังหวัด หรือ อ.ก.ค.สศศ. หรือ อ.ก.ค. ที่ ก.ค. ตั้ง หรือคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล หรือคณะกรรมการสถานศึกษาอาชีวของรัฐที่เป็นนิติบุคคล แล้วแต่กรณี พิจารณาอนุมัติแล้วให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 76 สั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการผู้นั้นต่อไป (ร่างมาตรา 83)

          43. กำหนดให้ภายใต้บังคับตามมาตรา 81 และมาตรา 83 ให้ อ.ก.ค.ส่วนราชการ กำหนด โดยความเห็นชอบจาก ก.ค. ดำเนินการให้มีการสับเปลี่ยนหน้าที่หรือย้ายข้าราชการครู ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือตำแหน่งที่มีลักษณะบริหารตามที่ ก.ค. กำหนด โดยยึดหลักการให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งดังกล่าวได้ไม่เกินสี่ปี (ร่างมาตรา 84)

          44. กำหนดให้การเลื่อนตำแหน่งนักพัฒนาการศึกษาซึ่งเป็นตำแหน่งที่มิได้กำหนดให้มีวิทยฐานะ เพื่อให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขึ้น ให้กระทำได้โดยการสอบแข่งขัน สอบคัดเลือก คัดเลือก หรือประเมิน ด้วยวิธีการอื่น (ร่างมาตรา 85)

          45. กำหนดให้การแต่งตั้งนักพัฒนาการศึกษาตามมาตรา 76 สำหรับผู้สอบแข่งขันได้ให้แต่งตั้งตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ (ร่างมาตรา 86)

          46. กำหนดให้ข้าราชการครูที่ได้รับการแต่งตั้งให้เลื่อนตำแหน่ง หรือเลื่อนวิทยฐานะ โดยไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานตำแหน่ง หรือมาตรฐานวิทยฐานะ หรือไม่ผ่านกระบวนการเลื่อนตำแหน่งหรือกระบวนการเลื่อน
วิทยฐานะตามกฎหมาย หลักเกณฑ์และวิธีการตามที่ อ.ก.ค.ส่วนราชการกำหนด โดยความเห็นชอบจาก ก.ค. หรือผู้สั่งสั่งไม่ถูกต้องหรือไม่มีอำนาจสั่ง ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 76 สั่งให้ผู้นั้นกลับไปดำรงตำแหน่งหรือ
วิทยฐานะเดิมโดยพลัน (ร่างมาตรา 87)

          47. กำหนดให้ข้าราชการครูที่ออกจากราชการไปแล้ว และมิใช่เป็นการออกจากราชการในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ถ้าสมัครเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู และนักพัฒนาการศึกษาและทางราชการประสงค์จะรับผู้นั้นเข้ารับราชการ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 76 สั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้นั้นเป็นข้าราชการครู
โดยให้มีตำแหน่ง วิทยฐานะ และรับเงินเดือน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ อ.ก.ค. ส่วนราชการกำหนด
โดยความเห็นชอบจาก ก.ค. (ร่างมาตรา 88)

          48. กำหนดให้ข้าราชการครูที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ออกจากราชการไปปฏิบัติงานใดและให้นับเวลาระหว่างนั้นสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญเหมือนเป็นเวลาราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ถ้าผู้นั้นกลับเข้ารับราชการภายในกำหนดเวลาที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ แต่ไม่เกินสี่ปีนับแต่วันไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 76 สั่งบรรจุและแต่งตั้ง ผู้นั้นเป็นข้าราชการครู โดยให้มีตำแหน่งวิทยฐานะ และรับเงินเดือน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ อ.ก.ค.ส่วนราชการกำหนด โดยความเห็นชอบ จาก ก.ค. (ร่างมาตรา 89)

          49. กำหนดให้ข้าราชการครูที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการเพื่อไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร เมื่อผู้นั้นพ้นจากราชการทหารโดยมิได้กระทำการใด ๆ ในระหว่างรับราชการทหารอันเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงหรือได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และผู้นั้นไม่เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 51 และไม่ได้ถูกสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งตามมาตรา 139 วรรคสอง เป็นให้ออกจากราชการตามมาตราอื่น หากประสงค์จะกลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู ในหน่วยงานการศึกษาเดิม ให้ยื่นเรื่องขอกลับเข้ารับราชการภายในกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันพ้นจากราชการทหาร และให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 76 สั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้นั้นเป็นข้าราชการครู และนักพัฒนาการศึกษา โดยให้มีตำแหน่งวิทยฐานะ และรับเงินเดือน
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ อ.ก.ค.ส่วนราชการ กำหนด โดยความเห็นชอบจาก ก.ค. (ร่างมาตรา 9๐)

          5๐. กำหนดให้พนักงานส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ที่ไม่ใช่พนักงานวิสามัญ หรือไม่ใช่ข้าราชการหรือพนักงานซึ่งออกจากงานในระหว่างทดลองปฏิบัติงานหรือข้าราชการที่ไม่ใช่ข้าราชการครูและไม่ใช่ข้าราชการการเมือง ข้าราชการวิสามัญ หรือข้าราชการซึ่งออกจากราชการ
ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ผู้ใดออกจากงานหรือออกจากราชการไปแล้ว ถ้าสมัครเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและทางราชการประสงค์รับผู้นั้นเข้ารับราชการ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 76 ที่ประสงค์
จะรับเข้ารับราชการเสนอเรื่องไปให้ อ.ก.ค. ส่วนราชการ หรือผู้ที่ อ.ก.ค. ส่วนราชการมอบหมาย พิจารณาอนุมัต

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1.   กระทรวงศึกษาธิการ
  2.   สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  3.   สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
  4.   สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
  5.   สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  6.   สำนักงานประสานส่งเสริมการประถมศึกษา
  7.   สำนักงานคณะกรรมการประสานส่งเสริมการมัธยมศึกษา
  8.   สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ
  9.   สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยกับองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูตามร่างมาตรา 7 ถึงมาตรา 19 หรือไม่
  2. ท่านเห็นด้วยกับการให้มีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู หน้าที่และอำนาจตามร่างมาตรา 20 หรือไม่
  3.  ท่านเห็นด้วยกับองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูประจำส่วนราชการ ตามร่างมาตรา 21 ถึงมาตรา 27 หรือไม่
  4.  ท่านเห็นด้วยกับการให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูประจำสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาพิเศษ มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารงานบุคคลภายในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาพิเศษตามร่างมาตรา 28 ถึงมาตรา 29 หรือไม่
  5. ท่านเห็นด้วยกับการให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูประจำจังหวัด มีหน้าที่และอำนาจการบริหารงานบุคคลภายในจังหวัดตามร่างมาตรา 30 ถึงมาตรา 31 หรือไม่
  6. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐที่ไม่เป็นนิติบุคคลมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูในสถานศึกษาตามร่างมาตรา ๓๓ และการวางระบบการบริหารงานบุคคลตามร่างมาตรา 34 ถึงมาตรา 39 หรือไม่
  7. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการครู คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามตามร่างมาตรา 40 ถึงมาตรา 46 หน้าที่และอำนาจตามร่างมาตรา 47 หรือไม่
  8.  ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดการบริหารงานบุคคล คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ซึ่งจะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู อัตราเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง การได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งในบางท้องที่ หรือบางสภาพการทำงาน ตำแหน่งในบางสายงาน หรือตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ การได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจ และบำเหน็จบำนาญข้าราชการครูตามร่างมาตรา 50 ถึงมาตรา 58 หรือไม่
  9. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดตำแหน่ง วิทยฐานะและการให้ได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งสำหรับข้าราชการครูตามร่างมาตรา 59 ถึงมาตรา 66 หรือไม่
  10. ท่านเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูตามร่างมาตรา 68 ถึงมาตรา 95 หรือไม่
  11. ท่านเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของข้าราชการครูตามร่างมาตรา 96 ถึงมาตรา 105 หรือไม่
  12. ท่านเห็นด้วยกับระบบวินัยและการรักษาวินัยของข้าราชการครูตามร่างมาตรา 106 ถึงมาตรา 121 กระบวนการดำเนินการทางวินัยตามร่างมาตรา 122 ถึงมาตรา 131 การออกจากราชการตามร่างมาตรา 132 ถึงมาตรา 145 ระบบการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ตามร่างมาตรา 146 หรือไม่
  13. ท่านเห็นด้วยกับระบบการคุ้มครองระบบคุณธรรมของข้าราชการครูตามร่างมาตรา 153 หรือไม่
  14. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)