สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

เนื่องด้วยประชาชนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะมักจะถูกดำเนินคดีที่เรียกว่า “การดำเนินคดีทางยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” อยู่เสมอ โดยบริษัทเอกชนและหน่วยงานของรัฐใช้การฟ้องคดีดังกล่าวเพื่อหยุด ลงโทษ หรือต่อต้านบรรดานักเคลื่อนไหว แกนนำหรือสมาชิกชุมชน หรือประชาชน ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การร้องเรียน การชุมนุมหรือการมีส่วนร่วมสาธารณะในรูปแบบต่าง ๆ ที่กระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของบริษัทเอกชน การดำเนินนโยบายของรัฐบาล การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีไม่ได้มุ่งเอาชนะ แต่มุ่งลดทอนทรัพยากรและข่มขู่ให้ผู้ถูกฟ้องยอมยุติบทบาทหรือยุติการเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ และแม้สุดท้ายจำเลยจะสามารถต่อสู้คดีจนศาลยกฟ้อง แต่ก่อนหน้านั้นจำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องเสียค่าใช้จ่าย เผชิญการคุกคามกดดันทางอารมณ์และอื่น ๆ จนทำให้หยุดการมีส่วนร่วมสาธารณะไป การฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะจึงเป็นการคุกคามต่อสิทธิของบุคคลที่ถูกรับรองภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ของสหประชาชาติ ข้อ 19 ข้อ 21 และข้อ 22 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 มาตรา 42 และมาตรา 44 รวมถึงสิทธิในการร้องเรียนและสิทธิชุมนุมที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 41 และมาตรา 43 ด้วยเหตุผลนี้ ในต่างประเทศที่มีการฟ้องคดีในลักษณะนี้เกิดขึ้น เช่นในหลายมลรัฐของสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย รวมถีงฟิลิปปินส์ จึงมีการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อจัดการกับการฟ้องคดีดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อรักษาความสมดุลในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญของบุคคลที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะและการคุ้มครองสิทธของบุคคลในการฟ้องคดีโดยสุจริตเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้ประเทศไทยจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และมาตรา 165/2 เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการจัดการกับคดีที่มีการฟ้องโดยไม่สุจริต ซึ่งอาจรวมถึงคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะด้วยก็ตามแต่กฎหมายดังกล่าวยังมีข้อจำกัดด้านขอบเขตในการบังคับใช้ และยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณา รวมถึงการเยียวยาและการลงโทษคู่กรณีที่ฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ

          ดังนั้น เพื่อให้มีกลไกทางกฎหมายที่ชัดเจนสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กับคณะ จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังต่อไปนี้

          1) เพิ่มบทนิยาม “คดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” หมายความว่า การร้องทุกข์ กล่าวโทษ หรือฟ้องคดีต่อบุคคล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อข่มขู่ ก่อกวน สร้างความกดดันอย่างไม่เหมาะสมหรือยับยั้งการใช้หรือสนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือพันธกรณีระหว่างประเทศ ในการมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะ (ร่างมาตรา 3)

          2) ให้อำนาจผู้ต้องหายื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการว่าเป็นคดีปิดกั้น
การมีส่วนร่วมสาธารณะ และให้พนักงานอัยการดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมโดยไม่ชักช้า และ
หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ ให้พนักงานอัยการนั้นออกคำสั่ง
ไม่ฟ้อง (ร่างมาตรา 4)

          3) ให้อำนาจจำเลยยื่นคำร้องก่อนการไต่สวนมูลฟ้องว่าคดีที่โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีปิดกั้น
การมีส่วนร่วมสาธารณะ และให้ศาลทำการไต่สวนโดยไม่ชักช้า โดยให้จำเลยผู้ยื่นคำร้องมีภาระพิสูจน์ด้วยการแสดงพยานหลักฐานว่าเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ     และหากจำเลยพิสูจน์ได้ว่าคดีที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้นเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ และโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคดีมีมูลและการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จริง ให้ศาลพิพากษายกฟ้อง และให้ศาลสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่น ๆ สื่อเดียวหรือหลายสื่อครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา และห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นอีก

ถ้าในคำร้องของจำเลยดังกล่าวมีคำขอบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย โดยแสดงรายละเอียดและพยานหลักฐานตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง เมื่อจำเลยได้แสดงพยานหลักฐานสนับสนุนคำขอดังกล่าวนั้นแล้ว ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าทนายความ และค่าบรรเทาทุกข์อื่น ๆ อย่างเหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งคดีให้แก่จำเลยได้

ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการไต่สวนมูลฟ้องมาบังคับแก่การไต่สวนดังกล่าวข้างต้นโดยอนุโลม และหากศาลไต่สวนดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่ต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องอีก (ร่างมาตรา 5)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

          1. ปลัดกระทรวงยุติธรรม

          2. เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

          3. อัยการสูงสุด

          4. นายกสภาทนายความ

          5. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

          6. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

          1) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีการเพิ่ม “คดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ”
ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

         2) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ผู้ต้องหาสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการว่า
คดีที่ตนถูกดำเนินคดีนั้นเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ และให้พนักงานอัยการออกคำสั่ง
ไม่ฟ้องหากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ

         3) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ก่อนการไต่สวนมูลฟ้องจำเลยสามารถยื่นคำร้องต่อศาลสามารถเพื่อขอพิสูจน์ว่าคดีที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้นเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ และกรณีที่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคดีมีมูลและการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จริง ให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

          4) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้กรณีที่ศาลยกฟ้องจำเลยในคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะแล้ว และให้ศาลสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่น ๆ โดยให้โจทก์เป็น
ผู้ชำระค่าโฆษณา และห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ตลอดจนสั่งให้โจทก์ชดใช้
ค่าสินไหมทดแทน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าทนายความ และค่าบรรเทาทุกข์อื่น ๆ อย่างเหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งคดีตามคำร้องขอบังคับของจำเลยได้