Error inserting IP into survey_ip:
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 กำหนดมาตรการและกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการการศึกษาของประเทศในส่วนภูมิภาคที่มีความซับซ้อนและสั่งสมมาเป็นเวลานาน ซึ่งมาตรการและกลไกดังกล่าวมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ กศจ. ทั้งอำนาจ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่ออำนาจในการจัดการบุคลากรตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ให้เป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผู้บังคับบัญชาโดยตรงในระดับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชาเพื่อให้คุณและโทษต่อบุคลากร คุณภาพการปฏิบัติงาน และการจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนของชาติถูกลดทอนลง ขาดการมีส่วนร่วมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ และเกิดความล่าช้าในการปฏิบัติงาน ทั้งยังขัดต่อหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงและขาดการยอมรับซึ่งกันและกันในองค์กร
สาระสำคัญ
แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดให้ กศจ. มีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 8 (1))
(2) กำหนดให้ กศจ. มีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัด ในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ไม่รวมถึงอำนาจหน้าที่ซึ่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (เพิ่มเติมข้อ 8 (5) วรรคสอง)
(3) กำหนดให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตจังหวัด ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กศจ. และ อกศจ. (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 11 (6))
(4) กำหนดให้ศึกษาธิการจังหวัด เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้างในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศึกษาธิการภาค มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และให้มีรองศึกษาธิการจังหวัด เพื่อช่วยเหลืองานศึกษาธิการจังหวัด จำนวนสามคน (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๑๒ วรรคหนึ่ง)
(5) ยกเลิกอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานครตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากร
ทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ของศึกษาธิการจังหวัดโดยความเห็นชอบของ กศจ. (ยกเลิกข้อ 13)
(6) กำหนดให้การบริหารงานบุคคลที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ให้เป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ไม่ต้องมอบอำนาจให้กับศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน (เพิ่มเติมข้อ 14 วรรคสี่)
(7) กำหนดให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลให้เป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ (มาตรา 9)