สถานะ : รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง
ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวิรัช พันธุมะผล กับคณะผู้เสนอ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติและคณะกรรมการข้าราชการตำรวจไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจเหมือนข้าราชการฝ่ายยุติธรรม ส่งผลให้การจัดระบบการบริหารงานราชการ การบริหารงานบุคคล การบังคับบัญชา และการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจยังไม่เป็นธรรมเท่าที่ควร ตลอดจนค่าตอบแทนและระดับชั้นของข้าราชการตำรวจในสายงานสอบสวนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติราชการ อันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรตำรวจ สมควรแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยกำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติและคณะกรรมการข้าราชการตำรวจกองบัญชาการ ที่มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจ เพื่อจัดระบบการบริหารงานราชการ การบริหารงานบุคคล ให้การแต่งตั้งโยกย้ายมีความเป็นธรรม กระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ขึ้น

สาระสำคัญ

แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ดังต่อไปนี้
1. บทนิยาม โดยยกเลิกคำว่า "ประธานกรรมการ” และ "กรรมการ” และแก้ไขคำว่า "กองบัญชาการ” หมายความรวมถึง ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกองบัญชาการหรือเทียบกองบัญชาการด้วย และเพิ่มเติมคำว่า "ประธาน ก.ตร.” หมายความว่า ประธานกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติ "ประธาน กต.บช.” หมายความว่า ประธานกรรมการข้าราชการตำรวจกองบัญชาการหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกองบัญชาการหรือเทียบกองบัญชาการ "ก.ตร.” หมายความว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติ "กต.บช.” หมายความว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจกองบัญชาการหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกองบัญชาการหรือเทียบกองบัญชาการ
2. ประเด็นการแก้ไข
2.1 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชนมีส่วนร่วมทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย งบประมาณ และอาสาสมัคร ตลอดจนการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานตำรวจ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ตร. กำหนด
2.2 กำหนดให้ ก.ตร. มีอำนาจกำหนดให้ข้าราชการตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ตามวัน เวลา ที่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีกำหนดก็ได้
2.3 แก้ไขให้การแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่น และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นนั้นออกเป็นกฎ ก.ตร.
2.4 กำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบควบคุมราชการประจำในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และลำดับความสำคัญของแผนการปฏิบัติราชการประจำปีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการที่นายกรัฐมนตรีและ ก.ตร. กำหนด
2.5 แก้ไขอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บัญชาการ
2.6 แก้ไขอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บังคับการ
2.7 กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบที่มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการบริหารราชการตำรวจ กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ปฏิบัติตามนโยบาย ระเบียบแบบแผน มติคณะรัฐมนตรี และกฎหมาย ตลอดจนกำกับดูแล ตรวจสอบ และแนะนำ เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติบริหารงานบุคคลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
2.8 กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจกองบัญชาการกองบัญชาการละหนึ่งคณะซึ่งมีองค์ประกอบที่มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจที่รับราชการอยู่ในกองบัญชาการนั้น ทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งที่อยู่ภายในกองบัญชาการ กำหนดนโยบายและมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจและจัดระบบราชการตำรวจ รวมทั้งการอบรมและพัฒนาข้าราชการตำรวจภายในกองบัญชาการนั้นๆ ตลอดจนกำกับดูแล ตรวจสอบ และแนะนำ เพื่อให้กองบัญชาการบริหารงานบุคคลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
2.9 ยกเลิกการให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ออกกฎ ก.ตร. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ แต่ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติ
2.10 การกำหนดจำนวนตำแหน่งข้าราชการตำรวจตั้งแต่ตำแหน่งผู้บังคับการ หรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปในส่วนราชการต่างๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ตร. ก่อน
2.11 แก้ไขให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (6) (7) (8) (9) (10) และ (11) ที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน ได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ
2.12 แก้ไขหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (1) (2) (3) (4) (5) และ (6)
2.13 แก้ไขหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (7) (8) (9) (10) (11) (12) และ (13)
2.14 แก้ไขให้ ก.ตร. มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะระงับการใช้อำนาจของผู้บัญชาการไว้เป็นการชั่วคราวและใช้อำนาจนั้นด้วยตนเอง
2.15 แก้ไขให้การสั่งการตามสมควรเพื่อเยียวยาและแก้ไข หรือดำเนินการตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขคําสั่งในเรื่องใดเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจ ก.ตร. หรือ กต.บช. แล้วแต่กรณี
2.16 แก้ไขอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุน
2.17 แก้ไขให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของกองทุนทุกรอบปี แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีของกองทุนเสนอต่อ ก.ตร. และกระทรวงการคลัง
3. เพิ่มบทเฉพาะกาล
3.1กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติและคณะกรรมการข้าราชการตำรวจตามมาตรา 16 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจกองบัญชาการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
3.2 กำหนดให้บรรดากฎกระทรวง กฎ ก.ตร. ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง กฎ ก.ตร. ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

การใดที่อยู่ระหว่างดำเนินการหรือเคยดำเนินการได้ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและมิได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้จะดำเนินการได้ประการใด ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติกำหนด ซึ่งต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย

การดำเนินการออกกฎกระทรวง กฎ ก.ตร. ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศตามวรรคหนึ่งให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  2. สำนักงบประมาณ
  3. กรมบัญชีกลาง

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชน มีส่วนร่วมทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย งบประมาณ และอาสาสมัคร ตลอดจนการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานตำรวจ
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับกำหนดให้ ก.ตร. มีอำนาจกำหนดให้ข้าราชการตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ตามวัน เวลา ที่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีกำหนดก็ได้
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้การแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่น และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นนั้นออกเป็นกฎ ก.ตร.
  4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับกำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบควบคุมราชการประจำ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และลำดับความสำคัญของแผนการปฏิบัติราชการประจำปีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการที่นายกรัฐมนตรีและ ก.ตร. กำหนด
  5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บัญชาการและผู้บังคับการ
  6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบที่มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจ
  7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจกองบัญชาการกองบัญชาการละหนึ่งคณะซึ่งมีองค์ประกอบที่มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจที่รับราชการอยู่ในกองบัญชาการนั้น ทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งที่อยู่ภายในกองบัญชาการ
  8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติ
  9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดจำนวนตำแหน่งข้าราชการตำรวจตั้งแต่ตำแหน่งผู้บังคับการ หรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปในส่วนราชการต่างๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ตร. ก่อน
  10. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวนได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ
  11. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๔๔
  12. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ ก.ตร. มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ในกรณีที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะระงับการใช้อำนาจของผู้บัญชาการไว้เป็นการชั่วคราวและใช้อำนาจนั้นด้วยตนเอง
  13. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการสั่งการตามสมควรเพื่อเยียวยาและแก้ไข หรือดำเนินการตามที่เห็นสมควรในกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขคําสั่งในเรื่องใดเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจ ก.ตร. หรือ กต.บช. แล้วแต่กรณี ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติ
  14. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุน
  15. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของกองทุนทุกรอบปี แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีของกองทุนเสนอต่อ ก.ตร. และกระทรวงการคลัง