ร่างพระราชบัญญัตินี้มีหลักการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพื่อบัญญัติหลักการเกี่ยวกับการกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องคดีอาญา โดยมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องคดีอาญาที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดตามมาตรา 28 (1) ต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาได้เอง ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณา หรือมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล หรือกรณีอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในฐานความผิดดังกล่าว และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ดำเนินการฟ้องเอง ทั้งนี้ มาตรา 28 (1) เป็นกรณีที่บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอํานาจไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (ร่างมาตรา 3 (แก้ไขมาตรา 3 เพิ่มบทนิยาม), ร่างมาตรา 4 (เพิ่มมาตรา 30/1), ร่างมาตรา 5 (เพิ่มมาตรา 58/1) และร่างมาตรา 6 (เพิ่มมาตรา 77/1))
ประเด็นที่สอง กำหนดบทเฉพาะกาล ให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา สำหรับคดีที่เป็นความผิดเกี่ยวข้องกับความผิดตามมาตรา 28 (1) ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับข้อกล่าวหาไว้พิจารณา หรือมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล หรือคดีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ฟ้องคดีเองก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับได้ แต่ต้องฟ้องภายในอายุความ (ร่างมาตรา 7)
ทั้งนี้ มีเหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มารา 30 วรรคสอง บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและดำเนินคดีความผิดอันเป็นกรรมการเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งจะต้องดำเนินการตามมาตรา 28 (1) (2) และ (4) และคดีที่มีการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกันและความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะต้องดำเนินการในคราวเดียวกันได้ ซึ่งความผิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 28 (1) ดังกล่าวอาจมีผู้เสียหายที่ปรากฏชัดเจน แต่เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ย่อมเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะไปฟ้องผู้กระทำความผิดได้เอง เพราะเมื่อยื่นฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีอาญาศาลก็ไม่รับฟ้อง เนื่องจากเป็นความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้น จึงสมควรให้ความคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายให้มีสิทธิยื่นฟ้องคดีได้เอง หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณา หรือมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล หรือเมื่ออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ยื่นฟ้องคดีเอง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1. ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง
1) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
2) สำนักงานอัยการสูงสุด
3) สำนักงานศาลยุติธรรม
2. ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
2) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
3) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
4) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
5) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
6) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
7) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
3. ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป
- ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องคดีอาญาที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดตามมาตรา 28 (1) ต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้เอง หรือไม่ อย่างไร
2. ท่านเห็นว่าที่ผ่านมากระบวนการดำเนินคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เกิดปัญหาหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร
3. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)