สืบเนื่องจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในระบบการปกครองท้องที่ ซึ่งทำหน้าที่ผู้แทนหรือผู้นำในการสะท้อนเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชน รวมทั้งเชื่อมโยงและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และสังคมทุกระดับ ดังนั้น การกำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่งของบุคคลดังกล่าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้เกิดกระบวนการหมุนเวียนผู้ที่มีความสามารถเข้ามาบริหารและพัฒนาชุมชน ระบบป้องกันการผูกขาดอำนาจหรือการสร้างอิทธิพล อันจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิหรือการใช้อำนาจในทางที่ผิด และประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าว
ทั้งนี้ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดให้กำนันและผู้ใหญ่บ้าน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสิบปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือดำรงตำแหน่งครบตามวาระ สำหรับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป และให้พ้นจากตำแหน่งเป็นไปตามดังนี้ ผู้ใหญ่บ้านมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านดำรงตำแหน่งครบตามวาระ ส่วนกำนัน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ให้พ้นจากตำแหน่งตามเหตุที่กฎหมายกำหนด (เพิ่มเติมมาตรา 13 วรรคเจ็ด และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 14 (1))
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 กระทรวงมหาดไทย
1.2 กรมการปกครอง
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
2.2 กรมบัญชีกลาง
2.3 สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
- ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้กำนันและผู้ใหญ่บ้าน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสิบปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือดำรงตำแหน่งครบตามวาระ แล้วแต่อย่างใดจะมาถึงก่อน
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้กำนัน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีเหตุให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมาย
5. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้หรือไม่ อย่างไร และการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ เพียงใด
6. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)