สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

        โดยที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการจึงไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงเพิ่มเติมบทนิยามเกี่ยวกับคนพิการ การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการ รวมถึงการกระทำที่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ องค์กรคนพิการอื่น คณะกรรมการบริหารกองทุน และปรับปรุงเพิ่มเติมบทบัญญัติต่าง ๆ เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ สิทธิของคนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและการให้ความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ การตั้งศูนย์คนพิการ การสอบสวนและการพิจารณาคดีอาของศาลซึ่งคนพิการเป็นผู้เสียหาย พยาน ผู้ต้องหาหรือจำเลย การคุ้มครองสิทธิคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแลหรือมีแต่ไม่สามารถดูแลได้และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุน รวมถึงการให้กองทุนมีสถานะเป็นนิติบุคคล ตลอดจนปรับปรุงบทบัญญัติต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1.    ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
        1.1 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
        1.2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 
        1.3 กระทรวงคมนาคม 
        1.4 กระทรวงมหาดไทย 
        1.5 กระทรวงสาธารณสุข 
        1.6 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 
        1.7 กระทรวงศึกษาธิการ 
        1.8 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

2.    ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
        2.1 สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย
        2.2 สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
        2.3 มูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย
        2.4 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

3.    ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
        - ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดบทนิยามตามร่างพระราชบัญญัตินี้ 

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ คณะอนุกรรมการตามประเภทความพิการ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัดในแต่ละจังหวัด คณะอนุกรรมการอื่น และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตลอนจนหลักเกณฑ์การประชุมของคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 6 ถึงร่างมาตรา 14)

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดลักษณะของการกระทำที่ให้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ และให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ (คณะกรรมการ วลก.) กำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ วลก. สิทธิของผู้เสียหายในการขอรับการชดเชยและเยียวยาเมื่อคณะกรรมการ วลก. มีคำวินิจฉัยว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ (ร่างมาตรา 17 ถึงร่างมาตรา 30)

4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดสิทธิของคนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ สวัสดิการและการให้ความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ และให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับการเข้าถึงสภาพแวดล้อมได้โดยสะดวก (ร่างมาตรา 35 และร่างมาตรา 69 ถึงร่างมาตรา 72)

5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับหลักเกณฑ์จัดตั้ง การยกเลิก การเพิกถอนการจัดตั้ง การกำหนดประเภทและมาตรฐานการดำเนินการของศูนย์บริการคนพิการ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำเนินการศูนย์บริการคนพิการ ตลอดจนการจดแจ้งผู้จัดการศูนย์บริการคนพิการ (ร่างมาตรา 38 ถึงร่างมาตรา 40)

6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับสิทธิของคนพิการที่เป็นผู้เสียหาย พยาน ผู้ต้องหาหรือจำเลยในกระบวนการสอบสวนและการพิจารณาคดีอาญาของศาล การแต่งตั้งผู้สนับสนุนการเข้าถึงสิทธิคนพิการเพื่อคุ้มครองสิทธิคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแลหรือมีแต่ไม่สามารถดูแลได้หรือเป็นคนพิการที่มีภาวะพึ่งพิงผู้อื่น (ร่างมาตรา 41 ถึงร่างมาตรา 44)

7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และให้องค์กรคนพิการอื่นได้รับเงินสนับสนุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการจากกองทุน (ร่างมาตรา 49 ถึงร่างมาตรา 57)

8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดแนวทางให้หน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการดำเนินงาน หากไม่รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 64 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 65 และหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่และอำนาจกำหนดอัตราตำแหน่งขึ้นใหม่เพิ่มเติมสำหรับคนพิการ (ร่างมาตรา 66 ถึงร่างมาตรา 67)

9. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด


10. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)