ร่างพระราชบัญญัตินี้มีหลักการเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีเหตุผลอันเป็นเจตนารมณ์ในการนำเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้คือ โดยที่การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการส่งเสริมให้บุคคลพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพในการเดินตามเส้นทางที่ตนใฝ่ฝัน รวมถึงในการพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทั้งในมิติของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การสร้างความเสมอภาคทางโอกาส และการฟูมฟักวัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคม แนวทางในการพัฒนาการศึกษาจึงควรมีกฎหมายที่วางหลักการสำคัญในการรับประกันสิทธิผู้เรียนในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและสวัสดิการที่ครอบคลุม คุ้มครองสิทธิผู้จัดการศึกษาที่หลากหลายอย่างเสมอภาค พัฒนาหลักสูตรให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง วางกลไกในการประกันคุณภาพการศึกษา ยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานของครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา กระตุ้นการผลิตและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เรียน สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทุกช่วงวัย วางแนวทางการออกแบบโครงสร้างของหน่วยงานด้านการศึกษาให้ทำงานได้อย่างบูรณาการและคล่องตัวโดยลดการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน สนับสนุนการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาโดยตรง พื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพิ่มการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา จึงสมควรมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติเพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาในอนาคต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ตารางเปรียบเทียบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุง (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1) กระทรวงศึกษาธิการ
2) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
3) กระทรวงมหาดไทย
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
3) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
4) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
5) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
6) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
7) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
8) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
9) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
10) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
11) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
12) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
13) กรมส่งเสริมการเรียนรู้
14) กรมกิจการเด็กและเยาวชน
15) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)
16) สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
17) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
18) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
19) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
20) สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย
21) สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย
22) สมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย
23) สมาคมส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประเทศไทย
24) สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
25) สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยกับความมุ่งหมายและหลักการการจัดการศึกษาที่ต้องเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บุคคลทุกคนทุกช่วงวัยพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ และต้องยึดหลักการตามที่กำหนดในหมวด 1 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ อย่างไร
2. ท่านเห็นด้วยกับสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาที่กำหนดให้บุคคลที่เป็นผู้เรียนมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการได้รับการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือเทียบเท่า โดยรัฐต้องจัดหรืออุดหนุนให้โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยและไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงสิทธิและหน้าที่ของครอบครัว ผู้ปกครอง และผู้จัดการศึกษา ตามที่กำหนดในหมวด 2 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ อย่างไร
3. ท่านเห็นด้วยกับระบบการศึกษาที่กำหนดรูปแบบการศึกษาเป็น 2 รูปแบบ สำหรับการศึกษาเพื่อคุณวุฒิทางการศึกษา และการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตามอัธยาศัย รวมถึงเรื่องการกำหนดระดับการศึกษา และสถานที่จัดการศึกษา ตามที่กำหนดในหมวด 3 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ อย่างไร
4. ท่านเห็นด้วยกับการบริหารและการจัดการศึกษาโดยให้กระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่ในการจัด ส่งเสริม สนับสนุน อุดหนุน และกำกับดูแลการจัดการศึกษาของหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใด เพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุวัตถุประสงค์ตามร่างมาตรา 6 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการบริหารและการจัดการศึกษาตามหลักการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามที่กำหนดในหมวด 4 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ อย่างไร
5. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดกรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นหลักประกันความสอดคล้องของการศึกษาซึ่งต้องบรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 และให้นำกรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมาบูรณาการเข้ากับกรอบหลักสูตรพื้นที่ ตามบริบท องค์ความรู้ และภูมิปัญญาในพื้นที่ รวมถึงการจัดทำหลักสูตรและออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ความจำเป็น หรือความต้องการของแต่ละสถานศึกษา ตามที่กำหนดในหมวด 5 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ อย่างไร
6. ท่านเห็นด้วยกับการประกันคุณภาพการศึกษาซึ่งต้องมีการประเมินคุณภาพการศึกษาและกลไกในการกำกับดูแลและสนับสนุนสถานศึกษา และระบบการศึกษา ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามร่างมาตรา 6 ตามที่กำหนดในหมวด 6 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ อย่างไร
7. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดเกี่ยวกับ ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามร่างมาตรา 6 ตามที่กำหนดในหมวด 7 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ อย่างไร
8. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดเกี่ยวกับทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณแผ่นดินอุดหนุนให้กับการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการให้ทั้งรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในหมวด 8 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ อย่างไร
9. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดเกี่ยวกับเทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อการศึกษา สำหรับใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามที่กำหนดในหมวด 9 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ อย่างไร
10. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
11. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)