โดยที่รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐด้านเศรษฐกิจ คือ การจัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งต้องคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าให้ได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาข้าราชการส่วนท้องถิ่นเมื่อถึงวัยเกษียณอายุราชการแล้วต้องมีชีวิตอยู่อย่างลำบากอันเนื่องมาจากวิธีคำนวณบำนาญตามมาตรา 32 (2) แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2500 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น เพื่อให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่เกษียณอายุได้รับหลักประกันในการดำรงชีพเมื่อพ้นจากการทำงานภายหลังเกษียณอายุราชการแล้วให้มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และเพื่อให้มีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชรา อันเป็นการสร้างความเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐให้แก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่เกษียณอายุราชการไปแล้วสมควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการคำนวณบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นและกำหนดเงินเพิ่มค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพให้แก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้รับบำนาญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีดังนี้
1.แก้ไขเพิ่มเติมวิธีคำนวณบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นและกำหนดให้มีเงินเพิ่มค่าครองชีพสำหรับข้าราชการบำนาญส่วนท้องถิ่น
2.กำหนดบทเฉพาะกาลรองรับการให้นำวิธีคำนวณบำนาญมาใช้บังคับย้อนหลังกับข้าราชการบำนาญส่วนท้องถิ่นที่ได้รับบำนาญก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับ
3.กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการ
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1.ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 กระทรวงมหาดไทย
1.2 กระทรวงการคลัง
1.3 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
1.4 กรมบัญชีกลาง
2.ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น
2.2 คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด
2.3 คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล
2.4 คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล
2.5 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร
2.6 คณะกรรมการพนักงานเมืองพัทยา
3.ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีคำนวณบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นและกำหนดให้มีเงินเพิ่มค่าครองชีพสำหรับข้าราชการบำนาญส่วนท้องถิ่น (ตามร่างมาตรา 3)
2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดบทเฉพาะกาลรองรับให้นำวิธีคำนวณบำนาญมาใช้บังคับย้อนหลังกับข้าราชการบำนาญส่วนท้องถิ่นที่ได้รับบำนาญก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับ (ตามร่างมาตรา 4)
3.ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2500 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมีการคำนวณบำเหน็จและบำนาญได้สอดคล้องกับสภาวการณ์เศรษฐกิจและสังคม
ในปัจจุบันหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จะแก้ไขปัญหานั้นได้หรือไม่อย่างไร
4.ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)