โดยที่รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐด้านเศรษฐกิจ คือ การจัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม รวมทั้งต้องคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าให้ได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติซึ่งที่ผ่านมาข้าราชการเมื่อถึงวัยเกษียณอายุราชการแล้วต้องมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก อันเนื่องมาจากวิธีการคำนวณบำนาญตามมาตรา 32 (2) แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ดังนั้น เพื่อให้ข้าราชการที่เกษียณอายุได้รับหลักประกันในการดำรงชีพ เมื่อพ้นจากการทำงานภายหลังเกษียณอายุราชการแล้ว ให้มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และเพื่อให้มีระบบการออมเงินเพื่อการดำรงชีพในยามชราอันเป็นการสร้างความเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐให้แก่ราชการที่เกษียณอายุราชการไป แล้วสมควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการคำนวณบำนาญข้าราชการเพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และกำหนดเงินเพิ่มค่าครองชีพ เพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพให้แก่ผู้รับบำนาญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีดังนี้
1. กำหนดให้ ข้าราชการวิสามัญ หรือลูกจ้างเมื่อเกษียณอายุตามมาตรา 9(3) และมาตรา 13 และเลือกรับบำนาญก็มีสิทธิได้รับสวัสดิการ การรักษาพยาบาลจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลางเหมือนกับข้าราชการบำนาญทุกประการตลอดไป
2. วิธีการคำนวณบำนาญข้าราชการ
โดยที่ข้าราชการเมื่อถึงวัยเกษียณอายุราชการแล้วต้องมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก อันเนื่องมาจากวิธีการคำนวณบำนาญตามมาตรา 32 (2) แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2539 ดังนั้น เพื่อให้วิธีการคำนวณบำนาญข้าราชการมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงให้คำนวณโดยการตั้งเงินเดือน เดือนสุดท้ายหารด้วยสามสิบคูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการไม่เกินสามสิบปี
3. เงินเพิ่มค่าครองชีพ
กำหนดให้มีเงินเพิ่มค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพให้แก่ ผู้รับบำนาญ
4. บทเฉพาะกาล
4.1 กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการคำนวณบำนาญ เพื่อให้ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับบำนาญที่มีชีวิตอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ มีผลใช้บังคับมีสิทธิได้รับบำนาญตามความในมาตรา 32 (2) แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่วันออกจากราชการ โดยให้กรมบัญชีกลางจ่ายเงินส่วนต่างของบำนาญที่เพิ่มขึ้นจากการคำนวณตามความใน มาตรา 32 (2) แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ให้แก่ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับบำนาญที่มีชีวิตอยู่ทุกคนให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้
4.2 กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับเงินเพิ่มค่าครองชีพเพื่อให้ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพที่มีชีวิตอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับมีสิทธิได้รับเงินค่าครองชีพตามความใน มาตรา 50/1 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่วันออกจากราชการ โดยให้กรมบัญชีกลางจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพตามความในมาตรา 50/1 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ให้แก่ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพที่มีชีวิตอยู่ทุกคนให้แล้วเสร็จ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้
5. ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 กระทรวงการคลัง
1.2 กรมบัญชีกลาง
1.3 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
2.2 ข้าราชการประจำทุกประเภท
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ข้าราชการวิสามัญหรือลูกจ้างเมื่อเกษียณอายุตามมาตรา 9 (3) และมาตรา 13 และเลือกรับบำนาญมีสิทธิได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลางเหมือนกับข้าราชการบำนาญทุกประการตลอดไป
2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับวิธีการคำนวณบำนาญข้าราชการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงให้คำนวณโดยการตั้งเงินเดือน เดือนสุดท้ายหารด้วยสามสิบคูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการไม่เกินสามสิบปี
3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรกับการเพิ่มหมวดเงินเพิ่มค่าครองชีพให้แก่ผู้รับบำนาญ
โดยจ่ายให้เป็นรายเดือน ผู้รับบำนาญ ตาม มาตรา 32(2) มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของเงินบำนาญ ที่ได้รับอยู่ในแต่ละเดือน ตามอัตราและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง (ตามร่างมาตรา 4)
4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรกับการกำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการคำนวณบำนาญ (ตามร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)
5.ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมีการคำนวณบำเหน็จและบำนาญได้สอดคล้องกับสภาวการณ์เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จะแก้ไขปัญหานั้นได้หรือไม่อย่างไร
6.ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)