สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
ประเภทร่าง เสนอโดยประชาชน เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย พันตรี นนธิมินทร์ ธรรปนานนท์ กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,002 คน
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... โดยที่รัฐต้องจัดและส่งเสริมรวมทั้งคุ้มครองการดำรงชีพในยามชราให้แก่ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ได้รับค่าตอบแทนสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรม และเหมาะสมอย่างทั่วถึงตลอดชีวิตซึ่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ได้กำหนดรองรับหลักการดังกล่าวไว้แล้ว แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมีอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในขณะที่การคำนวณบำนาญข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการยังมีความไม่เหมาะสม ทำให้เมื่อถึงวัยเกษียณอายุราชการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ซึ่งเงินบำเหน็จบำนาญไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพรวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ลดลงตามส่วนอย่างมาก นอกจากนี้การกำหนดบังคับให้ข้าราชการทุกประเภท และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐต้องเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการทุกคนยังถือเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และเพื่อให้ผู้รับบำนาญสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงสมควรแก้ไขหลักเกณฑ์ และวิธีการในการคำนวณบำนาญข้าราชการ เพื่อให้ข้าราชการได้รับหลักประกันในการดำรงชีพ ทั้งในระหว่างการทำงาน และให้มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพเมื่อเกษียณอายุราชการ และเพื่อมีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยาม
ชราภาพที่ครอบคลุมประชาชนทุกคน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... มีดังนี้
1.การคำนวณบำนาญให้ตั้งเงินเดือนเดือนสุดท้ายหารด้วยสามสิบ คูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการไม่เกินสามสิบปี และให้ใช้สูตรคำนวณบำนาญนี้กับข้าราชการประจำทุกประเภท ทั้งที่เป็นและไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและให้มีผลย้อนหลัง กับข้าราชการบำนาญทุกประเภทที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่มีชีวิตอยู่ทุกคน 
2.กำหนดให้สมาชิกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีสิทธิที่จะเลือกรับหรือไม่รับเงินประเดิมและเงินชดเชยก็ได้ เมื่อผู้นั้นออกจากราชการโดยมีคุณสมบัติครบตามมาตรา 48
    กรณีที่สมาชิกเลือกรับบำนาญให้ปฏิบัติดังนี้
    (1)    กรณีถ้าไม่เลือกรับเงินประเดิมและเงินชดเชยให้มีสิทธิได้รับ เงินสะสมและเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่มาตรา 46 กำหนดไว้ และในการคำนวณบำนาญให้ตั้งเงินเดือนเดือนสุดท้ายหารด้วยสามสิบคูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการไม่เกินสามสิบปี ให้กรมบัญชีกลางดำเนินการคำนวณบำนาญให้เสร็จสิ้น ภายในสามสิบวันนับจากคำสั่งต้นสังกัดอนุมัติ
    (2)    กรณีถ้าเลือกรับเงินประเดิมและเงินชดเชย ผู้นั้นต้องมีเวลาราชการตั้งแต่ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเลือกรับบำนาญตามมาตรา 48 แต่ต้องมีระยะเวลาหักเงินบำนาญไม่เกินสิบปีและหักไม่เกินร้อยละห้าของเงินบำนาญโดยไม่คิดดอกเบี้ย และเมื่อหักเงินครบก็ให้กรมบัญชีกลางดำเนินการคำนวณบำนาญตามมาตรา 63 ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับจากคำสั่งต้นสังกัดอนุมัติ 
3.กำหนดให้ข้าราชการทุกประเภทที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่ได้รับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม และเงินชดเชยไปแล้ว และได้คำนวณสูตรคำนวณบำนาญแบบเดิม 
คืออัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการหารด้วยห้าสิบ แต่ต้องไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบของอัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายไปแล้ว ให้ดำเนินการ ดังนี้
    (1)    เงินสะสมและเงินสมทบที่รับไปแล้วตามมาตรา 46 ไม่ต้องส่งคืน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
    (2)    เงินประเดิมและเงินชดเชยที่ได้รับไปแล้วไม่ต้องส่งคืนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการให้ดำเนินการหักลบกลบหนี้จากเงินบำนาญที่ลดลง โดยการเปรียบเทียบ ส่วนต่างระหว่างผลลัพธ์ของสูตรคำนวณบำนาญปัจจุบันที่แก้ไขแล้วตามมาตรา 63 คือ อัตราเงินเดือนเดือนสุดท้าย
หารด้วยสามสิบคูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการไม่เกินสามสิบปีกับผลลัพธ์สูตรคำนวณบำนาญแบบเดิม คืออัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้าย คูณด้วยเวลาราชการหารด้วยห้าสิบ แต่ต้องไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบ
ของอัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้าย เมื่อทราบยอดจำนวนเงินบำนาญที่ลดลงรวมกันทั้งหมดแล้วและถูกหักถึงจุดคุ้มทุน หรือเลยจุดคุ้มทุนแล้วให้กรมบัญชีกลางดำเนินการคำนวณบำนาญที่แก้ไขใหม่ คือให้ตั้งเงินเดือนเดือนสุดท้ายหารด้วยสามสิบคูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการไม่เกินสามสิบปี พร้อมทั้ง
ให้กรมบัญชีกลางจ่ายเงินส่วนที่หักเกินคืนให้แก่ข้าราชการบำนาญทุกประเภทที่เป็นสมาชิก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับจากวันประกาศในราชกิจนุเบกษาเป็นต้นไป 
4.กำหนดให้กรมบัญชีกลางดำเนินการจ่ายคืนเงินบำเหน็จดำรงชีพที่ลดลง ไปจากสูตรคำนวณบำนาญแบบเดิม คืออัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้าย คูณด้วยเวลาราชการหารด้วยห้าสิบแต่ต้องไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบของอัตราเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายให้แก่ข้าราชการบำนาญทุกประเภท ที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญทุกคน ภายในสามสิบวันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 
5.กำหนดให้เพิ่มค่าครองชีพทุกปีให้แก่ข้าราชการบำนาญทุกประเภททั้งที่เป็น และไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของเงินบำนาญที่รับอยู่ในแต่ละเดือน หรือในรอบปี ภายในสามสิบวันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 
6.กำหนดให้ข้าราชการทุกประเภทที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีสิทธิขอลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ โดยทำเป็นหนังสือขอลาออกจากหน่วยงานต้นสังกัดถึงคณะกรรมการ เมื่อคณะกรรมการอนุมัติแล้ว ให้กองทุนส่งคืนเงินสะสมและสมทบและดอกเบี้ยพร้อมผลประโยชน์ต่าง ๆ คืนให้แก่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการผู้นั้นภายในเจ็ดวันหลังได้รับอนุมัติ
7.กำหนดให้ข้าราชการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ โดยทำเป็นหนังสือจากหน่วยงานต้นสังกัดไปถึงคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเมื่อคณะกรรมการอนุมัติแล้วให้สมาชิกผู้นั้นได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนทันที 
8.กำหนดให้คณะกรรมการหรือผู้ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ดำเนินการ ทบทวน กฎ ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ทุกหกเดือน หากกฎ ประกาศ หรือ ระเบียบใด ก่อให้เกิดปัญหา หรือละเมิดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ต่อสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการให้รายงานตามลำดับสายการบังคับบัญชาจนถึงรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการแก้ไขภายในสามสิบวัน พร้อมกับรายงาน ต่อประธานคณะกรรมาธิการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และกองทุน เพื่อทราบภายในเจ็ดวันทำการนับจากวันที่พบปัญหา หากคณะกรรมการหรือผู้ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการเพิกเฉย หรือไม่ดำเนินการ ให้คณะกรรมการและสายการบังคับบัญชาทั้งหมดจนถึงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด และจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย 
9.กำหนดว่าถ้าสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้รับความเดือดร้อน หรือถูกกระทบสิทธิจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือจากการดำเนินงานของคณะกรรมการรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการผู้นั้น ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หากปรากฏว่าปัญหาดังกล่าวเป็นผลบัญญัติแห่งกฎหมายให้รีบดำเนินการภายในเจ็ดวันทำการ นับจากวันที่ทราบปัญหา แต่หากปรากฏว่าปัญหาดังกล่าว เกิดจากการดำเนินงานของคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยยินยอมให้หน่วยงานภายนอกรัฐบาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทันที ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จให้คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แจ้งผลการดำเนินงานเป็นหนังสือให้สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการผู้นั้นทราบในเจ็ดวันทำการ นับจากวันที่ดำเนินการแล้วเสร็จน และให้ประกาศสื่อของรัฐบาลด้วย 
10.กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ 

ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

    1.ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
        1.1 กระทรวงการคลัง
        1.2 กรมบัญชีกลาง
        1.3 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
    2.ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
        2.1 สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
        2.2 กองทุนการออมแห่งชาติ
        2.3 ข้าราชการประจำทุกประเภท
    3.ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
        ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ในการคำนวณบำนาญให้ตั้งเงินเดือนสุดท้ายหารด้วยสามสิบ คูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการไม่เกินสามสิบปี (ตามร่างมาตรา 6) 
2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ในการกำหนดให้สมาชิกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีสิทธิที่จะเลือกรับหรือไม่รับเงินประเดิมและเงินชดเชยก็ได้ เมื่อผู้นั้นออกจากราชการโดยมีคุณสมบัติครบตามมาตรา 48 (ตามร่างมาตรา 7)
3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ในการกำหนดให้ข้าราชการทุกประเภทที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่ได้รับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม และเงินชดเชยไปแล้ว และได้คำนวณสูตรบำนาญแบบเดิมคืออัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการหารด้วยห้าสิบ แต่ต้องไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบของอัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายไปแล้ว (ตามร่างมาตรา 8)
4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ในการกำหนดให้กรมบัญชีกลางดำเนินการจ่ายคืนเงินบำเหน็จดำรงชีพที่ลดลง ไปจากสูตรคำนวณบำนาญแบบเดิม คืออัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้าย คูณด้วยเวลาราชการหารด้วยห้าสิบแต่ต้องไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบของอัตราเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายให้แก่ข้าราชการบำนาญทุกประเภท ที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญทุกคน ภายในสามสิบวันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 
5.ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ในการกำหนดให้เพิ่มค่าครองชีพทุกปีให้แก่ข้าราชการบำนาญทุกประเภททั้งที่เป็น และไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของเงินบำนาญที่รับอยู่ในแต่ละเดือน หรือในรอบปี ภายในสามสิบวันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 
6.ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ในการกำหนดให้ข้าราชการทุกประเภทที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีสิทธิขอลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ โดยทำเป็นหนังสือขอลาออกจากหน่วยงานต้นสังกัดถึงคณะกรรมการ เมื่อคณะกรรมการอนุมัติแล้ว ให้กองทุนส่งคืนเงินสะสมและสมทบและดอกเบี้ยพร้อมผลประโยชน์ต่าง ๆ คืนให้แก่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการผู้นั้นภายในเจ็ดวันหลังได้รับอนุมัติ
7.ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ในการกำหนดให้ข้าราชการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ โดยทำเป็นหนังสือจากหน่วยงานต้นสังกัดไปถึงคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเมื่อคณะกรรมการอนุมัติแล้วให้สมาชิกผู้นั้นได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนทันที 
8.ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ในการกำหนดให้คณะกรรมการหรือผู้ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ดำเนินการ ทบทวน กฎ ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ทุกหกเดือน (ตามร่างมาตรา 3) 
9.ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ในการกำหนดว่าถ้าสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้รับความเดือดร้อน หรือถูกกระทบสิทธิจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือจากการดำเนินงานของคณะกรรมการรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการผู้นั้น ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง (ตามร่างมาตรา 11) 

10.ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมีการคำนวณบำเหน็จและบำนาญได้สอดคล้องกับสภาวการณ์เศรษฐกิจและสังคม ในปัจจุบันหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จะแก้ไขปัญหานั้นได้หรือไม่อย่างไร
11.ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)