สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเท่าเทียม พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัตินี้มีหลักการเพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาเท่าเทียม โดยมีเหตุผลโดยที่ปัจจุบันการจัดการศึกษาทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา ยังมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันระหว่างการเรียนการสอนในเขตชนบทและเขตเมือง โดยผู้เรียนในเขตชนบทจะขาดแคลนทั้งครูที่มีคุณภาพ สถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอน ทำให้ผู้เรียนในชนบทไม่สามารถแข่งขันกับผู้เรียนในเขตเมืองได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรเพราะเหตุแห่งความไม่เท่าเทียมกัน การทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่และทุกเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญซึ่งจะต้องดำเนินการผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในระดับสถานศึกษาและกระทรวงที่รับผิดชอบ อันจะทำให้ผู้เรียนในทุกระดับพัฒนาตนเองไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าของประเทศในอนาคต จึงจำเป็นต้องให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สามารถจัดตั้งธนาคารหน่วยกิต การสอบเทียบ แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ การให้ปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร การเทียบโอนหน่วยกิตและผลการศึกษา การรับรองและให้วุฒิบัตรทักษะ และแฟ้มสะสมผลการเรียนรู้ และเมื่อกระทรวงได้ดำเนินการไประยะหนึ่งแล้ว ควรให้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาเท่าเทียมเป็นองค์การมหาชนขึ้น เพื่อให้สถาบันนี้รับผิดชอบงานตามที่กระทรวงได้ดำเนินการในขั้นต้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้
สาระสำคัญ
        1. กำหนดให้การจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยไม่ว่าจะเป็นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง   โดยประชาชนจะต้องมีความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าประชาชนจะอาศัยในเขตเมืองหรือชนบท (ร่างมาตรา 5)
        2. กำหนดให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีการอื่นใดนอกสถานศึกษาได้ (ร่างมาตรา 7)
        3. กำหนดให้กระทรวงมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
            3.1 จัดการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาอุดมศึกษา
            3.2 จัดตั้งและบริหารธนาคารหน่วยกิต
            3.3 จัดตั้งและบริหารระบบการสอบเทียบ
            3.4 จัดทำและบริหารแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ เพื่อให้ผู้เรียนมีความเท่าเทียมในการศึกษา    
            3.5 ให้ปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรแก่บุคคลผู้จบการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
            3.6 ดูแลและบริหารการเทียบโอนหน่วยกิตและผลการศึกษาทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา
            3.7 จัดให้มีการรับรองและให้วุฒิบัตรทักษะ
            3.8 จัดให้มีแฟ้มสะสมผลการเรียน (ร่างมาตรา 8)
        4. เมื่อกระทรวงดำเนินการตามมาตรา 8 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจัดตั้งสถาบันการศึกษาเท่าเทียม เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นองค์การมหาชน โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

1)    กระทรวงศึกษาธิการ
2)    กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
3)    กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
4)    มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)

2.    ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

1)    กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2)    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3)    สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
4)    สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
5)    สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
6)    สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
7)    สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
8)    สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
9)    สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
10)    กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
11)    กรมส่งเสริมการเรียนรู้
12)    กรมกิจการเด็กและเยาวชน
13)    สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)
14)    สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
15)    สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร
16)    สำนักการศึกษาเมืองพัทยา
17)    สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
18)    สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
19)    สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย
20)    สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย
21)    สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย 
22)    สมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย
23)    สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
24)    สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
25)    สถาบันสร้างสรรค์สื่อเพื่อการเรียนรู้ (สสร.)
26)    สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย
27)    สภาคริสตจักรในประเทศไทย
28)    คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

    ประชาชน
 

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดหลักการในร่างพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้มี      การจัดการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ไม่ว่าในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะต้องมีความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน (ร่างมาตรา 5)
2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้สถานศึกษาตามร่างพระราชบัญญัตินี้         จัดการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีการอื่นใดนอกสถานศึกษาได้ (ร่างมาตรา 7)
3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ที่จะให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีอำนาจตามมาตรา 8 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 8)
4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งสถาบันการศึกษาเท่าเทียมซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและองค์การมหาชน โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (ร่างมาตรา 10)
5.ท่านเห็นว่า ในปัจจุบันระบบการศึกษาไทยประสบปัญหาด้านความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน หรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้หรือไม่ เพียงใด
6.ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)