สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายจรัส คุ้มไข่น้ำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

    ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 
และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เพื่อทำการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ใช้แรงงานโดยรวม เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพิ่มอำนาจต่อรอง ซึ่งสอดรับกับการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ และสิทธิลาหยุดพัดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้าง 
        
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

    1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
    - กระทรวงแรงงาน


    2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม    
    1) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
    2) สหภาพแรงงาน 
    3) มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน 
    4) มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน
    5) สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย
    6) สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย

    3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป            
    - ประชาชน
 

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมให้เวลาทำงานของลูกจ้าง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง เว้นแต่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง (ร่างมาตรา 3)

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า 2 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 5 วัน (ร่างมาตรา 4)

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วัน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 10 วันทำงาน และกำหนดให้ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่า 10 วันก็ได้ และนายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งยังทำงานไม่ครบ 120 วัน (ร่างมาตรา 5)      

4. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับเวลาทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ และวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างหรือไม่ อย่างไร และร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด

5. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)