ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน เนื่องจากมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ผู้ใช้แรงงานมากกว่าสามสิบล้านคนในตลาดแรงงานไทยมีปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างปรากฎชัด ดังนั้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ใช้แรงงานโดยรวมให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพิ่มอำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานซึ่งสอดรับกับการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สมควรกำหนดเกี่ยวกับการจ้างงานให้มีความเท่าเทียมในทุกด้าน เพิ่มเติมสิทธิการลาไปดูแลบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด กำหนดหน้าที่จัดหาสถานที่ให้ลูกจ้างสามารถให้นมบุตรหรือบีบเก็บน้ำนมและให้สิทธิลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีสิทธิลาเนื่องจากมีประจำเดือน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
(1) กำหนดให้การจ้างงานมีความเท่าเทียมในทุกด้าน ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แสดงออกถึงการกีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ โดยเหตุความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม ความคิดเห็นทางการเมือง หรือทำการอื่นใดให้ผู้อื่นไม่ได้รับสิทธิอันเขาพึงได้ตามกฎหมาย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 15)
(2) กำหนดให้การลาเนื่องจากมีประจำเดือนมิให้ถือว่าเป็นวันลาป่วย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 32 วรรคสาม)
(3) กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาไปดูแลบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลอื่นใดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ที่พำนักอยู่ในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน หรือผู้ป่วยที่มีความต้องการการดูแลทางร่างกายและจิตใจ ปีละไม่เกินสิบห้าวันทำงาน โดยการลาไปดูแลบุคคลตั้งแต่ห้าวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือใบรับรองของสถานพยาบาลของทางราชการหรือใบมรณบัตรของบุคคลที่ลูกจ้างลาไปดูแล (เพิ่มเติมมาตรา 32/1)
(4) กำหนดให้มีสถานที่ที่เหมาะสมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อให้ลูกจ้างสามารถให้นมบุตรหรือบีบเก็บน้ำนมในที่ทำงาน ไม่น้อยกว่าสองครั้ง ครั้งละสามสิบนาที ในช่วงเวลาแปดชั่วโมงของการทำงาน ตลอดระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีหลังคลอด (เพิ่มเติมมาตรา 39/2)
(5) กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีสิทธิลาเนื่องจากมีประจำเดือน เดือนหนึ่งไม่เกินสามวันโดยไม่นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างลาด้วย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 40/1)
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.กระทรวงแรงงาน
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2. มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน
3. มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน
4. สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย
5. สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย
6. สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปภัมภ์
7. มูลนิธิเพื่อนหญิง
8. มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
3. ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แสดงออกถึงการกีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ โดยเหตุความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม ความคิดเห็นทางการเมือง หรือทำการอื่นใดให้ผู้อื่นไม่ได้รับสิทธิอันเขาพึงได้ตามกฎหมาย
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้การลาเนื่องจากมีประจำเดือนมิให้ถือว่าเป็นวันลาป่วย และให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีสิทธิลาเนื่องจากมีประจำเดือน เดือนหนึ่งไม่เกินสามวัน โดยไม่นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างลาด้วย
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาไปดูแลบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลอื่นใดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่พำนักอยู่ในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน หรือผู้ป่วยที่มีความต้องการการดูแลทางร่างกายและจิตใจปีละไม่เกินสิบห้าวันทำงาน โดยในกรณีที่ลาตั้งแต่ห้าวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์หรือใบมรณบัตรของบุคคลที่ลูกจ้างลาไปดูแล
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่นายจ้างต้องกำหนดให้มีสถานที่ที่เหมาะสมและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกจ้างสามารถให้นมบุตรหรือบีบเก็บน้ำนมในที่ทำงานไม่น้อยกว่าสองครั้ง ครั้งละสามสิบนาที ในช่วงเวลาแปดชั่วโมงของการทำงาน ตลอดระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีหลังคลอด
5. ท่านเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร
6. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)