สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยเฉพาะปัญหาการทับซ้อนระหว่างป่ากับที่ดินอยู่อาศัยหรือที่ดินทำกินของราษฎรที่ได้ถือครองทำประโยชน์มานานจนไม่มีสภาพความเป็นป่าแล้ว ก่อให้เกิดข้อพิพาทและความขัดแย้งของราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากับรัฐ และกับราษฎรด้วยกันเอง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งปรากฏว่าพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ใช้บังคับมาเป็นเวลาห้าปีแล้วนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าได้ ทำให้ราษฎรจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนและสูญเสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีดังนี้ 

(1)แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จำนวน 7 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยา สังคมวิทยา สิทธิมนุษยชน วนศาสตร์ การอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่า การท่องเที่ยว และการปกป้องคุ้มครองสิทธิที่ดิน สาขาละ 1 คน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 39 วรรคหนึ่ง)

(2)แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยต้องไม่เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นของบุคคลใด หรือต้องไม่เป็นที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหรือนโยบายในการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินของรัฐบาล เว้นแต่เป็นที่ดินของหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ หากปรากฏว่ามีพื้นที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชนดังกล่าว จะต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อน และในการขยายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะต้องเปิดเผยข้อมูลและแผนที่แนวเขตให้ประชาชนรับทราบ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบของสภาเทศบาลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อพิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ ตามประกาศที่รัฐมนตรีกำหนดโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 48 และมาตรา 62 วรรคหนึ่ง)

(3)แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจในการปรับปรุง ซ่อมแชม หรือบำรุงรักษาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าโดยที่ไม่ได้ขยายจากพื้นที่เดิม แต่จะต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก่อนดำเนินการไม่น้อยกว่า 30 วัน และอยู่ในความควบคุมดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่รบกวนการดำรงชีวิตตามธรรมชาติของสัตว์ป่า และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 55 และมาตรา 67)

(4)แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาศึกษาและจัดทำโครงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดทดแทนได้ตามหลักวิชาการ วัฒนธรรม และวิถีชุมชนภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กล่าวคือ หากประชาชนในท้องถิ่นร้องขอให้มีการพิจารณาศึกษาและจัดทำโครงการดังกล่าวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีศักยภาพเหมาะสมเพียงพอในการเก็บหา หรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบางชนิดที่เกิดทดแทนได้ และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเห็นว่าการเก็บหาหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาตินั้นไม่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ สภาพธรรมชาติ และสัตว์ป่า ให้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่นอาจพิจารณาศึกษาจัดทำโครงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาตินั้นตามหลักวิชาการ วัฒนธรรม และวิถีชุมชน โดยคำนึงถึงชนิด ประเภท จำนวนหรือปริมาณของทรัพยากรธรรมชาติที่อนุญาตให้เก็บหาหรือใช้ประโยชน์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 57 วรรคหนึ่ง)

(5)แก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ซึ่งได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการประกาศกำหนดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า หรือเพื่อช่วยเหลือผู้ซึ่งไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าจัดทำโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตล่าสัตว์ป่าโดยมิได้สิทธิในที่ดินนั้น และจัดให้มีแผนที่แสดงแนวเขตโครงการที่จะดำเนินการด้วยระบบภูมิสารสนเทศหรือระบบอื่น ทั้งนี้ หากชุมชนใดไม่ยินยอมเข้าร่วมโครงการ หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชไม่อาจจัดทำโครงการดังกล่าวได้ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล จัดทำหลักฐานควบคุมแนวเขตแปลงที่ดินเป็นรายบุคคลหรือรายชุมชนพร้อมเงื่อนไขการใช้ประโยชน์มอบให้แก่ผู้ที่ได้รับการสำรวจการถือครองที่ดินนั้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 121)

ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

    1.    ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
        1.1    สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
        1.2    กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
    2.    ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
        2.1    กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
        2.2    กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
        2.3    กรมที่ดิน
        2.4    กรมประมง
        2.5    กรมป่าไม้
        2.6    สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
        2.7    สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
        2.8    สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
        2.9    สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
        2.10    สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
        2.11    มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
    3.    ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
        ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

    1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จำนวน 7 คน จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยา สังคมวิทยา สิทธิมนุษยชน วนศาสตร์ การอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่า การท่องเที่ยว และการปกป้องคุ้มครองสิทธิที่ดิน สาขาละ 1 คน 
    2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ต้องไม่เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นของบุคคลใด หรือต้องไม่เป็นที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหรือนโยบายในการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินของรัฐบาล
    3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจในการปรับปรุง ซ่อมแชม หรือบำรุงรักษาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าโดยที่ไม่ได้ขยายจากพื้นที่เดิม ทั้งนี้ ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่รบกวนการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
    4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ประชาชนในท้องถิ่นร้องขอให้มีการศึกษาและจัดทำโครงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดทดแทนได้ตามหลักวิชาการ วัฒนธรรม และวิถีชุมชน ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีศักยภาพเหมาะสมเพียงพอในการเก็บหา หรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบางชนิดที่เกิดทดแทนได้ โดยไม่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ สภาพธรรมชาติ 
และสัตว์ป่า
    5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีการรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดิน
ของผู้ที่ได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า หรือการช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 
    6. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่ทับซ้อนระหว่างป่ากับที่ดินอยู่อาศัยหรือที่ดินทำกินของราษฎรที่ถือครองทำประโยชน์มานานจนไม่มีสภาพความเป็นป่าหรือไม่ อย่างไร 
และร่างพระราชบัญญัตินี้จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
    7. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)