ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... เสนอเพื่อเป็นการส่งเสริมภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่อื่นที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ ประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย การจัดให้มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรเพื่อลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยอย่างสะดวกปลอดภัย ตลอดจนมุ่งเน้นการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
พื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้จะมีการกำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โดยการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ หัวหน้าส่วนราชการ สมาคมผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ให้ความเห็นชอบแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การประกาศกำหนดพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนอนุมัติแผนงาน โครงการและงบประมาณในการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เป็นต้น
นอกจากนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เพื่อเป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
โดยมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำนโยบายและแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนแนวทางหรือมาตรการในการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดจากการดำเนินการดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
สำหรับกองทุนพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
ดังนั้น เนื่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางดังกล่าว เพราะขาดการวางแผนการบริหารพื้นที่แบบองค์รวม การพัฒนาด้านต่าง ๆ จึงมีลักษณะเป็นการรวมศูนย์ ขาดการส่งเสริมการกระจายโอกาสในเชิงพื้นที่ ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน
ทำให้ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงสมควรกำหนดให้มีกฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดเป็นระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เพื่อที่จะได้มีการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ชัดเจนแน่นอน โดยเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
2. กระทรวงการคลัง
3. กระทรวงอุตสาหกรรม
ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1. กระทรวงกลาโหม
2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3. กระทรวงคมนาคม
4. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
5. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. กระทรวงพลังงาน
7. กระทรวงพาณิชย์
8. กระทรวงมหาดไทย
9. กระทรวงแรงงาน
10. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
11. กระทรวงศึกษาธิการ
12. กระทรวงสาธารณสุข
13. กระทรวงการต่างประเทศ
14. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
15. สำนักงบประมาณ
16. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
17. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
18. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
19. สมาคมธนาคารไทย
20. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
21. กรมโยธาธิการและผังเมือง
22. กรมศุลกากร
23. กรมธนารักษ์
24. สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
25. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วย หรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้พื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนพื้นที่อื่นใดในภาคใต้ให้เป็นระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
2. ท่านเห็นด้วย หรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และการกำหนดองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
3. ท่านเห็นด้วย หรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐแต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
4. ท่านเห็นด้วย หรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้มีการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เขตส่งเสริมพิเศษ และอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ส่งเสริมให้เกิดกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษ สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยที่มีศักยภาพสูง
5. ท่านเห็นด้วย หรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้มีกองทุนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
6. ในปัจจุบันท่านคิดว่าการพัฒนาและการบริหารเชิงพื้นที่ในเขตพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือพื้นที่ภาคใต้มีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นได้หรือไม่
7. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)