สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายอนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัตินี้มีหลักการให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 เนื่องจากรัฐได้ออกมาตรการเพื่อยับยั้งภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2564 ทำให้ประชาชนไม่สามารถประกอบสัมมาอาชีพได้ตามปกติ เกิดการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก หนี้ครัวเรือนสูงสะสมต่อเนื่อง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว มีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบการคิดคำนวณข้อมูลเครดิตใหม่ที่สะท้อนความเป็นจริง สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้โดยสะดวก เป็นธรรม และลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ มีดังต่อไปนี้

1. แก้ไขนิยาม “คะแนนเครดิต” และ “ธุรกิจข้อมูลเครดิต” เพื่อให้บริษัทข้อมูลเครดิตประมวลผลข้อมูลเครดิตออกมาเป็นคะแนนให้แก่สถาบันการเงิน

2. กำหนดให้เจ้าของข้อมูลเครดิตตรวจสอบข้อมูลของตนได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม (ประชาชนขอตรวจเครดิตบูโรของตนเองได้ฟรี)

3. เพิ่มสิทธิของเจ้าของข้อมูลเครดิตที่จะรับรู้การเปิดเผยข้อมูลหรือคะแนนเครดิตของบริษัทข้อมูลเครดิตแก่สถาบันการเงินต่าง ๆ และหลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสินเชื่อของสถาบันการเงินเมื่อใช้คะแนนเครดิตประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ (ประชาชนรู้ว่ามีใครตรวจเครดิตบูโรของตน และสถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยอย่างไรจากเครดิตบูโรของตน)

4. เพิ่มสิทธิเจ้าของข้อมูลเครดิตที่จะขอให้ทำลายข้อมูลสำหรับบัญชีที่หนี้ระงับแล้ว บัญชีที่เคยค้างชำระและกลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน และบัญชีที่หนี้ขาดอายุความ หรือหลุดพ้นจากการล้มละลาย และกำหนดให้บริษัทข้อมูลเครดิตมีระบบทำลายข้อมูลข้างต้น (ประชาชนขอให้ลบข้อมูลเครดิตบูโรได้ สำหรับข้อมูลสินเชื่อที่ปิดไปแล้ว สินเชื่อที่กลับมาจ่ายตรงเวลาได้ 180 วันติดต่อกัน สินเชื่อที่ขาดอายุความฟ้องคดี หรือสินเชื่อที่หลุดพ้นจากการล้มละลายแล้ว)

5. กำหนดระยะเวลาดำเนินการเพื่อขอตรวจสอบ ขอแก้ไข ขอรับรู้ หรือขอทำลายข้อมูลของตนที่มีอยู่กับบริษัทข้อมูลเครดิตหรือสถาบันการเงิน และแจ้งผลดำเนินการภายในสามสิบวัน (ประชาชนขอตรวจสอบ แก้ไข รับรู้ หรือลบข้อมูลเครดิตบูโร สถาบันการเงินและเครดิตบูโรต้องแจ้งผลการดำเนินการใน 30 วัน)

6. กำหนดมิให้นำข้อมูลผิดนัดชำระหนี้ระหว่างช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาประมวลคะแนนเครดิต (ไม่นำข้อมูลค้างชำระหนี้ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ถึง 1 ตุลาคม 2565 เพราะโรคโควิด 19 ระบาด มารวมในเครดิตบูโร)

 

 

ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 ธนาคารแห่งประเทศไทย
1.2 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
1.3 บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด


2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
2.2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
2.3 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
2.4 สมาคมธนาคารไทย
2.5 สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ
2.6 สมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
2.7 สภาองค์กรของผู้บริโภค


3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
- ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “คะแนนเครดิต” และ “ธุรกิจข้อมูลเครดิต”
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะตรวจสอบข้อมูลของตนได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดสิทธิของเจ้าของข้อมูลเครดิตเพิ่มเติมตามร่างมาตรา 11 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ และการกำหนดให้บริษัทข้อมูลเครดิตมีระบบทำลายข้อมูลตามสิทธิที่จะขอให้ทำลายข้อมูลที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่นั้น
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้เจ้าของข้อมูลเครดิตสามารถขอตรวจสอบ แก้ไข รับรู้ หรือทำลายข้อมูลของตนที่มีอยู่กับบริษัทข้อมูลเครดิตหรือสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิตตามสิทธิในมาตรา 25 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว โดยบริษัทข้อมูลเครดิตหรือสถาบันการเงินนั้นต้องแจ้งผลการดำเนินการพร้อมเหตุผลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดมิให้นำข้อมูลของลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดต่ออันตรายของโรคโควิด 19 ในระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ถึง 1 ตุลาคม 2565 มาเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการประมวลคะแนนเครดิต
6. ท่านเห็นว่าการบริหารจัดการข้อมูลเครดิตในปัจจุบันมีปัญหาหรือความไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะแก้ไขปัญหานั้นได้หรือไม่ เพียงใด
7. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)