สถานะ : นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายก่อแก้ว พิกุลทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัตินี้มีหลักการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพื่อบัญญัติหลักการเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมีเหตุผลในประเด็นต่าง ๆ เป็นดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง กำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องคดีอาญาที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดตามมาตรา 28 (1) ได้เอง เนื่องจากในมาตรา 30 วรรคสอง ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและดำเนินคดีความผิดอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทและบทใดบทหนึ่งจะต้องดำเนินการตามมาตรา 28[1] (1) (2) และ (4)
และคดีที่มีการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกันและความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะต้องดำเนินการในคราวเดียวกันได้ ทั้งนี้ ความผิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 28 (1) อาจมีผู้เสียหายที่ปรากฏชัดเจน แต่เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล หรืออัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ย่อมเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะไปฟ้องผู้กระทำความผิดได้เอง เพราะเมื่อยื่นฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีอาญาศาลก็ไม่รับฟ้อง เนื่องจากเป็นความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้น จึงสมควรให้ความคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายให้มีสิทธิยื่นฟ้องคดีอาญาที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดตามมาตรา 28 (1) ต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาได้เองในฐานความผิดดังกล่าว (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4 เพิ่มนิยามคำว่า “ผู้เสียหาย”, ร่างมาตรา 4

 

[1] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

“มาตรา 28 วรรคหนึ่ง  คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้

(1) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ํารวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

(2) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

(3) กําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว

(4) ไต่สวนเพื่อดําเนินคดีในฐานความผิดอื่นที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กําหนดหรือที่มีกฎหมายกําหนดให้อยู่ในหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

(5) หน้าที่และอํานาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมายอื่น”

 

เพิ่มมาตรา 30/1 ขึ้นใหม่, ร่างมาตรา 9 เพิ่มมาตรา 58/1 ขึ้นใหม่, และร่างมาตรา 10 แก้ไขเพิ่มเติม
มาตรา 77 วรรคสาม)

ประเด็นที่สอง กำหนดระยะเวลาการไต่สวนและมีมติวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้อย่างชัดเจน การที่ไม่กำหนดระยะเวลาการไต่สวนและมีมติวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้
ทำให้หลายคดีมีการใช้ระยะเวลาการไต่สวนที่ยาวนาน ส่งผลกระทบต่อสิทธิและสถานะของผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องเสียสิทธิหรือถูกจำกัดสิทธิต่าง ๆ จึงควรกำหนดระยะเวลาการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ชัดเจน  (ร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 48 วรรคสาม และร่างมาตรา 6 ยกเลิกมาตรา 48 วรรคห้า)

ประเด็นที่สาม กำหนดลักษณะเรื่องที่ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกขึ้นพิจารณาให้ชัดเจน บทบัญญัติที่ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกขึ้นพิจารณานั้น ยังขาด
ความชัดเจนและให้ดุลพินิจคณะกรรมการ ป.ป.ช. มากเกินไป จึงควรกำหนดลักษณะของเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน (ร่างมาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 54 และร่างมาตรา 8 ยกเลิกมาตรา 55)

ประเด็นที่สี่ กำหนดยกเลิกอำนาจในการฟ้องคดีได้เองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. การให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องคดีได้เองนั้น ย่อมทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไม่เป็นไป
ในแนวทางเดียวกันกับการดำเนินคดีอาญาทั่วไป ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยในคดีอาญาได้รับการปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน และขัดต่อหลักการถ่วงดุลอำนาจ เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวนคดีและยังฟ้องคดีได้เอง นอกจากนี้กฎหมายยังให้ศาลถือสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลักอีกด้วย
จึงสมควรยกเลิกอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในส่วนนี้ (ร่างมาตรา 11 ยกเลิกมาตรา 77 วรรคห้ายกเลิกมาตรา 79 วรรคสาม และยกเลิกมาตรา 80, ร่างมาตรา 12 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 78,
ร่างมาตรา 13 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 82 วรรคหนึ่ง, และร่างมาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 วรรคหนึ่ง)

ประเด็นที่ห้า กำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องหรือยกคำร้องได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี โดยเบิกจ่ายจากกองทุน ป.ป.ช. ตามที่ได้จ่ายจริง แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและต่อมามีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ภายหลังเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องหรือยกคำร้อง แต่ไม่มีกระบวนการชดเชยเยียวยาค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีที่ต้องเสียไป จึงสมควรกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องหรือยกคำร้องได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีโดยจ่ายจากกองทุน ป.ป.ช. (ร่างมาตรา 15 เพิ่มมาตรา 86/1 ขึ้นใหม่, ร่างมาตรา 16 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 87 วรรคสาม, ร่างมาตรา 17 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 93 วรรคสอง, ร่างมาตรา 18 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 114 วรรคสาม, ร่างมาตรา 19 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 121, ร่างมาตรา 20 แก้ไขเพิ่มเติม
มาตรา 123 วรรคสี่, และร่างมาตรา 21 เพิ่มมาตรา 162 (2/1) ขึ้นใหม่)

ประเด็นที่หก กำหนดบทเฉพาะกาล ให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา สำหรับคดีที่เป็นความผิดเกี่ยวข้องกับความผิดตามมาตรา 28 (1) ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับข้อกล่าวหาไว้พิจารณา หรือมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล หรือคดีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องสามารถยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับได้ แต่ต้องฟ้องภายในอายุความ และให้คดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงดำเนินคดีตอไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด (ร่างมาตรา 22 และร่างมาตรา 23)

ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง

1) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

2) สำนักงานเลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด

3) สำนักงานศาลยุติธรรม

2. ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม

1) สภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

2) วุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

3) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

4) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

5) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

6) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

7) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

8) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

9) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

3. ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป

- ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องคดีอาญาที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดตามมาตรา 28 (1) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้เอง หรือไม่ อย่างไร

2. ท่านเห็นด้วยกับกำหนดระยะเวลาการไต่สวนและมีมติวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะไม่สามารถไต่สวนหรือมีมติวินิจฉัยในเรื่องที่กล่าวหาได้ และให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากข้อกล่าวหาและพ้นจากการเป็นผู้ถูกกล่าวหาทันที หรือไม่ อย่างไร

3. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดลักษณะเรื่องที่ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกขึ้นพิจารณาให้ชัดเจน โดยเพิ่มข้อห้าม เช่น เรื่องที่ล่วงเลยเกินสิบปีนับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันที่มีการกล่าวหา หรือเรื่องที่ดำเนินการต่อผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายอื่นเสร็จสิ้นแล้ว หรือไม่ อย่างไร

4. ท่านเห็นด้วยกับกำหนดยกเลิกอำนาจในการฟ้องคดีได้เองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่ อย่างไร

5. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องหรือยกคำร้องได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี โดยเบิกจ่ายจากกองทุน ป.ป.ช. ตามที่ได้จ่ายจริง แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา หรือไม่ อย่างไร

6. ท่านเห็นว่าที่ผ่านมากระบวนการดำเนินคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เกิดปัญหาหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร

7. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)