สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น รอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี
ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานไม้เศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยประชาชน เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายเฉลิมชัย สมมุ่ง กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 19,212 คน
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

           สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากการค้าและการส่งออกไม้เศรษฐกิจ รวมทั้งการค้าขายคาร์บอนเครติตของภาคการเกษตรและป่าไม้ของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น โดยประเทศไทยมีประชาชนจำนวนมากปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินของตนเองทั้งที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ เอกสารสิทธิ หรือสิทธิครอบครอง รวมทั้งพื้นที่ซึ่งรัฐให้ใช้ประโยชน์ แต่ในปัจจุบันประชาชนยังไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนในการปลูกไม้เศรษฐกิจจากภาครัฐเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาด้านโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและทั่วถึง ประกอบกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน อาทิ พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสม และเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกไม้เศรษฐกิจ โดยเฉพาะการที่กฎหมายดังกล่าวมุ่งเน้นการอนุรักษ์ ป้องกัน และรักษาพื้นที่ป่าไม้เป็นสำคัญ ประกอบกับความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดเขตพื้นที่ป่า ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายเป็นช่องทางให้ผู้ทุจริตฉวยโอกาสแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวส่งผลให้ผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต้องรับโทษทางอาญา อันเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพแก่ประชาชน สมควรจัดตั้งสำนักงานไม้เศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานโดยตรงในการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินทั้งที่มีกรรมสิทธิ์ เอกสารสิทธิ หรือสิทธิครอบครอง รวมทั้งพื้นที่ซึ่งรัฐให้ใช้ประโยชน์ ให้มีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน ตลอดจนส่งเสริมและจูงใจให้มีการปลูกไม้เศรษฐกิจเป็นพืชทางเลือกเพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้ประชาชน รวมทั้งสามารถแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งประเทศไทยในฐานะที่ได้เข้าเป็นภาคีข้อตกลงปารีสและได้ให้ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประชาคมโลก โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ ร้อยละ 20 – 25  ภายในปี พ.ศ. 2573

           ดังนั้น  จึงมีความจำเป็นต้องใช้ระบบคณะกรรมการในการกำหนดนโยบายและแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสำนักงานไม้เศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีความจำเป็นต้องใช้ระบบอนุญาตเพื่อเป็นมาตรการในการกำกับดูแลการทำกิจกรรมสำคัญเกี่ยวกับไม้เศรษฐกิจเพื่อเป็นการป้องกันการทำลายป่าไม้ อันเป็นเป็นทรัพยากรของชาติให้มีสภาพอันจะอำนวยประโยชน์แก่รัฐและประชาชนด้วยดีสืบไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

          1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

             1.1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

             1.2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

             1.3 กรมป่าไม้

          2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

             2.1 กระทรวงการคลัง

             2.2 กระทรวงการต่างประเทศ

             2.3 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

             2.4 กระทรวงพาณิชย์

             2.5 กระทรวงมหาดไทย

             2.6 กระทรวงอุตสาหกรรม

             2.7 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

             2.8 สำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย

             2.9 สมาคมธุรกิจไม้

          3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

             - ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

          1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดคำนิยามของ “ไม้เศรษฐกิจ” หมายความว่า ไม้ที่ปลูกขึ้น ขึ้นอยู่ มีอยู่ ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ เอกสารสิทธิและสิทธิครอบครอง และพื้นที่ที่รัฐให้ใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ รวมทั้งผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจมีสิทธิเก็บเกี่ยวไม้ เคลื่อนย้ายไม้ เพิ่มมูลค่าไม้ และค้าไม้เพิ่มมูลค่า เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของตน

          2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการจัดตั้ง “สำนักงานไม้เศรษฐกิจแห่งชาติ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 โดยกำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 8

         3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้รายได้ของสำนักงานไม้เศรษฐกิจแห่งชาติไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินและทรัพย์สินไม่ให้อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงานดังกล่าว

          4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการไม้เศรษฐกิจแห่งชาติตามมาตรา 16 โดยกำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 21     

          5. ท่านเห็นว่าปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนการปลูกไม้เศรษฐกิจหรือไม่ อย่างไร และท่านเห็นว่าการตราพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร

          6. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)