ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นการเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2560 เรื่องการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ลงวันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2560 และแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน โดยแก้ไขบทนิยาม องค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ ที่มา สัดส่วนของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รวมทั้งองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างการบริหารราชการภาครัฐ กฎหมาย การศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน
สาระสำคัญ
1. แก้ไขนิยามคำว่า “ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” “หน่วยงานการศึกษา” “สถานศึกษา” โดยให้หมายความถึงบุคคลที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น และแก้ไขถ้อยคำให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียนเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (ร่างมาตรา 4)
2. แก้ไของค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) โดยยังคงสัดส่วนกรรมการจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา (ร่างมาตรา 6)
2.1) กรรมการโดยตำแหน่ง โดยเปลี่ยนแปลงให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งจากเดิมที่กำหนดให้เป็นรองประธานคณะกรรมการ และเพิ่มเลขาธิการสภาการศึกษา และอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้
2.2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยแก้ไขที่มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีเป็นการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
2.3) กรรมการข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา โดยแก้ไขที่มาของกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จากการเลือกตั้งเป็นการสรรหา และให้ก.ค.ศ.เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
3. กำหนดให้สำนักงาน ก.ค.ศ. มีฐานะเป็นกรม โดยมีเลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นอธิบดี (ร่างมาตรา 7)
4. กำหนดองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการวิสามัญ (อ.ก.ค.ศ. วิสามัญ) (ร่างมาตรา 11)
5. แก้ไขผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจาก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเป็น ก.ค.ศ. (ร่างมาตรา 14)
6. กำหนดให้คำว่า “ขั้นเงินเดือน” ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหมายถึงเงินเดือน (ร่างมาตรา 19)
ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 กระทรวงศึกษาธิการ
1.2 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.)
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา
2.2 กระทรวงวัฒนธรรม
2.3 กรมส่งเสริมการเรียนรู้
2.4 สภาการศึกษา
2.5 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.6 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
2.7 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนดนิยาม คำว่า “ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” ให้หมายถึงบุคคลที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น โดยไม่รวมถึงบุคคลที่สังกัดกระทรวงอื่น
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการแก้ไของค์ประกอบของกรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) โดยเพิ่มเลขาธิการสภาการศึกษา และอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการแก้ไขที่มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีเป็นการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการแก้ไขที่มาของกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จากการเลือกตั้งเป็นการสรรหา โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้ สำนักงาน ก.ค.ศ. มีฐานะเป็นกรมโดยมีเลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นอธิบดี
6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการแก้ไขผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจาก คณะอนุกรรมการวิสามัญเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา) เป็นคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) โดยสามารถมอบอำนาจให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ส่วนราชการหรือหน่วยงานการศึกษาเป็นผู้ดำเนินการแทนได้
7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้คำว่า “ขั้นเงินเดือน” ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหมายถึงเงินเดือน
8. ปัจจุบันการดำเนินการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ท่านคิดว่ามีปัญหาหรือไม่ อย่างไร
9. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)