ร่างพระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน พ.ศ. .... ฉบับนี้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เพื่อจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการบริหารจัดการการเกษตรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน และกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน เพื่อสนับสนุนการเกษตรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน และกำหนดให้มีการกำกับกิจการรับซื้อผลปาล์มน้ำมันเพื่อกำหนดราคามาตรฐานของปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน โดยมีคณะกรรมการกองทุนปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันมีหน้าที่รับผิดชอบบริหารกองทุน นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน คือ 1) เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน 2) องค์กรเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน และ 3) ผู้ประกอบกิจการปาล์มน้ำมัน เพื่อให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และแผนการบริหารจัดการการเกษตรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน รวมถึงกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันประเภทต่าง ๆ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ และยังกำหนดให้มีหลักเกณฑ์การนำเข้าและการส่งออก และกำหนดหน้าที่และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย และกำหนดบทกำหนดโทษเอาไว้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน และองคาพยพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการรับฟังความคิดเห็นยิ่งขึ้นจึงขอสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็น ดังนี้
1. คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.)
กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ (ร่างมาตรา 5) ประกอบด้วย
1) รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ
2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2
3) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 9 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดประทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
4) กรรมการผู้แทนภาคเอกชน จำนวน 12 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้แทนเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน จำนวน 3 คน ผู้แทนสถาบันการเกษตรกรชาวสวนปาล์ม จำนวน 2 คน ผู้แทนผู้ประกอบการโรงเรือนเพาะชำ จำนวน 1 คน ผู้แทนผู้ประกอบการลานเททะลายปาล์มน้ำมัน จำนวน 1 คน ผู้แทนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม จำนวน 2 คน ผู้แทนโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์ม จำนวน 1 คน ผู้แทนโรงงานผลิตไบโอดีเซล จำนวน 1 คน ผู้แทนโรงงานผลิตโอลิโอเคมี จำนวน 1 คน
5) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 3 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน ด้านบริหารธุรกิจ ด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร หรือด้านเศรษฐศาสตร์ ให้เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นกรรมการและเลขานุการ และมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงาน จำนวนไม่เกิน 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
โดย กนป. มีหน้าที่และอำนาจเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการบริหารจัดการการเกษตรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน (ยุทธศาสตร์และแผนการบริหารจัดการการเกษตรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันฯ) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ และกำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนการบริหารจัดการการเกษตรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันฯ ที่ได้มีการนำเสนอ รวมถึงทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแล ติดตาม ประสานงาน หรือเร่งรัดการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และแผนการบริหารจัดการการเกษตรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันฯ และแนวทางหรือมาตรการดังกล่าว (ร่างมาตรา 9 (1) - (3))
ทั้งนี้ กนป. ยังมีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน โดยต้องส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา การวิจัย และการพัฒนาการปลูก การเก็บเกี่ยว การผลิตปาล์มน้ำมัน และอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน รวมถึงส่งเสริมการเกษตรและและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันอย่างครบวงจร และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลผลิตและของที่เหลือใช้จากการเกษตรและและอุตสาหกรรมฯ ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมการตลาดและการจัดการ รวมทั้งต้องส่งเสริมการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมันและการเกษตรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ (ร่างมาตรา 9 (5) - (8))
อนึ่ง ในส่วนที่เป็นหน้าที่และอำนาจอื่น ๆ นั้น กนป. ยังสามารถให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการดำเนินการออกกฎกระทรวงตามร่างมาตรา 29 ซึ่งเป็นการกำหนดให้ กนป. มีอำนาจเกี่ยวกับการประกอบกิจการรับซื้อผลปาล์น้ำมัน และสามารถเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนการบริหารจัดการการเกษตรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันฯ และไม่ดำเนินการตามกำหนดแนวทางหรือมาตรการที่ กนป. กำหนด นอกจากนี้ ยังสามารถที่จะพิจารณาเพื่ออนุมัติแผนการดำเนินงานประจำปีของกองทุน และออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกองทุน โดยต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน และออกประกาศและระเบียบต่าง ๆ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงการจัดทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ต่อคณะรัฐมนตรี และปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายนี้กำหนด หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย (ร่างมาตรา 9 (4) และ (9) - (14))
2. การประชุมและองค์ประชุมของ กนป.
กำหนดให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม และให้รองประธานตามลำดับสามารถทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมแทนได้ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ นอกจากนี้ หากประธานและรองประธานไม่สามารถทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้ให้เลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ กรรมการ 1 คนให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน โดยการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ใช้เสียงข้างมาก และหากคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีก 1 เสียงเป็นการชี้ขาด นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ กนป. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม (ร่างมาตรา 10)
3. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการของ กนป.
กำหนดให้ กนป. สามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่ กนป. มอบหมายก็ได้ โดยให้นำบทบัญญัติของร่างมาตรา 10 ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมและองค์ประชุมมาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม (ร่างมาตรา 11)
4. สำนักงานเลขานุการของ กนป. และหน้าที่อำนาจของสำนักงานเลขานุการ
กำหนดให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กนป. โดยให้มีหน้าที่และอำนาจในการรับผิดชอบงานธุรการของ กนป. และคณะอนุกรรมการ และจัดทำร่างยุทธศาสตร์และร่างแผนการบริหารจัดการการเกษตรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันเสนอต่อ กนป. โดยต้องมีการนำร่างเอกสารนี้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องและให้เสนอความเห็นดังกล่าวประกอบการพิจารณาของ กนป. ด้วย รวมถึงให้ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล ที่เป็นสภาพปัญหาและความเห็น เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของ กนป. เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์และแผนการบริหารจัดการการเกษตรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันฯ (ร่างมาตรา 13 (1) - (3) และร่างมาตรา 14)
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้สำนักงานเลขานุการของ กนป. ต้องดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษา วิจัย และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่ออื่น ๆ ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ กนป. และคณะอนุกรรมการมอบหมาย (ร่างมาตรา 13 (4) - (6))
5. กองทุนปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน
กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมากองทุนหนึ่งในสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกว่า "กองทุนปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน” โดยมีวัตถุประสงค์ (ร่างมาตรา 16) ดังนี้
1) เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันเกี่ยวกับการเพาะปลูก การปลูกทดแทน เพื่อยกระดับคุณภาพปาล์มน้ำมัน
2) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน
3) เพื่อส่งเสริมให้การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการผลิต การตลาด ภัยพิบัติ ภัยจากศัตรูพืช และโรคระบาด
4) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรเกษตรกร อันนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการผลิตให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
6. คณะกรรมการบริหารกองทุนปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน
กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ (ร่างมาตรา 19) ประกอบด้วย
1) ปลัดประทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ
2) เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นรองประธานกรรมการ
3) ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ และผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ
4) กรรมการตามมาตรา 5 (4) และ (5) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำแห่งชาติมอบหมายจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นกรรมการ (โปรดดูองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติจากร่างมาตรา 5 ข้างต้น)
5) ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการ จำนวน 1 คน และเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน 1 คน
โดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนมีหน้าที่และอำนาจเพื่อพิจารณาอนุมัติการส่งเสริม สนับสนุน หรือสงเคราะห์ตามร่างมาตรา 18 ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน โดยไม่ก่อให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และเพื่อบริหารกองทุนและดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์และการจัดการกองทุนตามระเบียบที่ กนป. กำหนด นอกจากนี้ ยังรวมถึงการวางแนวทางการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการเก็บรักษาและการเบิกจ่ายเงินและทรัพย์สินของกองทุน การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานที่ได้รับประโยชน์จากกองทุน การรายงานสถานะทางการเงินของกองทุนต่อ กนป. และคณะรัฐมนตรี การจัดทำแผนการดำเนินงานประจำปีของกองทุนเพื่อเสนอ กนป. พิจารณา และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติตามที่คณะกรรมการกองทุนมอบหมาย รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และระเบียบที่ กนป. กำหนดเกี่ยวกับการบริหารกองทุน และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนอีกด้วย(ร่างมาตรา 20)
7. แหล่งที่มาของรายได้ของกองทุนปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน
กำหนดให้มีแหล่งที่มาของรายได้ของกองทุนปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน (ร่างมาตรา 17) ประกอบด้วย
1) เงินประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
2) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
3) เงินสมทบที่จัดเก็บจากผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
4) เงินค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้
5) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่กองทุน
6) เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน
7) ดอกผล ผลประโยชน์ หรือรายได้อื่นที่ได้จากเงินหรือทรัพย์สินอื่น ๆของกองทุน
ทั้งนี้ เงินและทรัพย์สินของกองทุนข้างต้นไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
8. วัตถุประสงค์ของกองทุนปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน
กำหนดให้การใช้จ่ายเงินของกองทุนต้องดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ในการสนับสนุน เงินทุนการศึกษา วิจัย และพัฒนาการเพาะปลูก การผลิต การแปรรูป การตลาด การใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน เพื่อยกระดับคุณภาพยิ่งขึ้น และเพื่อวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาด และการแปรรูปของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน รวมถึงต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อสงเคราะห์เกษตรกรในการปลูกทดแทนด้วยปาล์มน้ำมัน และพืชทดแทนอื่นในพื้นที่เดิม และการปลูกทดแทนสวนปาล์มน้ำมันอันเกิดจากภัยพิบัติจากภัยธรรมชาติ ศัตรูพืชหรือโรคระบาด ตามแนวทางที่ กนป. กำหนด นอกจากนี้ ยังต้องเป็นการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการผลิต การตลาด ภัยพิบัติ ภัยจากศัตรูพืชและโรคระบาด และส่งเสริม สนับสนุน การสร้างความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบองค์กรเกษตรกรรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อีกทั้งยังต้องใช้จ่ายเงินของกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของกองทุนตามที่ กนป. กำหนดอีกด้วย (ร่างมาตรา 18)
9. การกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนปาล์ม