สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปรามการกระทำความผิดร้ายแรงต่อสันติภาพและมนุษยชาติ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

                    ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายให้มีมาตรการทางกฎหมายที่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ตามพันธกรณีและความรับผิดชอบร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งเป็นภัยคุกตามต่อสันติภาพ ความมั่นคง และความเป็นมนุษยชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (Customary International Law) หรือหลักการปฏิบัติสากลโดยทั่วไป (General Principles) และบรรทัดฐานจากคำตัดสินของศาลโลก (Opinio Juris)และสร้างความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว
โดยคำนึงถึงการรักษาดุลยภาพระหว่างการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของรัฐภายได้หลักนิติธรรม เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายภายในที่ครอบคลุมการกระทำดังกล่าวอย่างครบถ้วน

          ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีเนื้อหาทั้งหมด 29 มาตรา โดยแบ่งออกเป็น 5 หมวด และ
บทเฉพาะกาล ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสังเขป ดังนี้

          หมวด 1 การป้องกันอาชญากรรมอันเป็นความร้ายแรงต่อสันติภาพและมนุษยชาติ กำหนดให้มีการส่งเสริมให้ประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชน ตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญากรรมต่อสันติภาพและมนุษยชาติ

          หมวด 2 การกระทำความผิดร้ายแรงต่อสันติภาพและมนุษยชาติ กำหนดฐานความผิดดังต่อไปนี้

1) ความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์: การกระทำที่มุ่งหมายเพื่อทำลายกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครองทั้งหมดหรือบางส่วน

2) ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ: การกระทำที่มุ่งหมายเพื่อโจมตีหรือเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีที่ก่อให้เกิดความเสียหายในชีวิต ร่างกาย อนามัย และทรัพย์สินของพลเรือน
อย่างกว้างขวางและเป็นระบบต่อพลเรือน

3) ความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม: การกระทำที่มุ่งหมายต่อทหารบาดเจ็บ เชลยศึก บุคคลากรทางการแพทย์ หรือพลเรือนในพื้นที่สงคราม โดยละเมิดกฎหมายสงครามอย่างร้ายแรง

4) ความผิดฐานอาชญากรรมรุกราน: ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจควบคุมกำลังหรือกลุ่มติดอาวุธใด วางแผน เตรียมการ ยุยง หรือสั่งการให้ใช้กำลังอาวุธโจมตีหน่วยงานของรัฐหรือประชาชน อันกระทบต่อความเป็นเอกราชหรือบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรหรือของรัฐอื่น

          หมวด 3 หน้าที่และความรับผิดของผู้บังคับบัญชา ตลอดจนคุ้มครองผู้ใต้บังคับบัญชา
ที่ปฏิเสธคำสั่งที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ของผู้บังคับบัญชา

          หมวด 4 การดำเนินคดี กำหนดอำนาจพนักงานสอบสวนและศาลในการดำเนินคดี
และพิจารณาพิพากษาคดีอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ตลอดจนเขตอำนาจศาล

          หมวด 5 บทกำหนดโทษ

          บทเฉพาะกาล

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

          1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

             1) กระทรวงยุติธรรม

             2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

             3) สำนักงานอัยการสูงสุด

             4) สำนักงานศาลยุติธรรม

            

          2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

             1) กระทรวงการต่างประเทศ

             2) กระทรวงกลาโหม

             3) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

                            

          3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป  

             - ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

          1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการตรากฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพ ความมั่นคง และความเป็นมนุษยชาติ

          2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับความเหมาะสมในการการกำหนดฐานความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ ความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม และความผิดฐานอาชญากรรมรุกราน

          3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้กลุ่มชนชาติ เชื้อชาติ ศาสนา หรือชาติพันธุ์ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้

          4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดอำนาจหน้าที่และกลไกตรวจสอบผู้บังคับบัญชาเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชาติ

          5. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)