โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลจะกระทำมิได้
แต่ปัจจุบันยังคงปรากฏว่ามีบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลายในสังคมไทยต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการเลือกปฏิบัติไม่ว่าในการทำงาน การประกอบอาชีพ การเข้าถึงสินค้าและบริการ การเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาลและสวัสดิการสังคมประการต่าง ๆ รวมถึงการขาดกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการและกลไกในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในภาพรวมและไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานที่มีภารกิจดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ การขาดกลไกที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะมาร่วมแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล การไม่มีกลไกในการคุ้มครองและช่วยเหลือเยียวยาบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติและป้องกันไม่ให้ถูกกระทำซ้ำอีก สมควรให้มีกฎหมายกลางที่กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการและกลไกในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อรับรองสิทธิของบุคคลทุกคนที่จะปลอดพ้นจากการถูกเลือกปฏิบัติ และสอดคล้องกับมาตรา ๔ และมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้
สาระสำคัญโดยสรุป กำหนดให้พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายกลางและเป็นกฎหมายที่วางมาตรฐานขั้นต่ำเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล การกำหนดเกี่ยวกับการรับรองสิทธิของบุคคลที่จะปลอดพ้นจากการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลไว้อย่างชัดแจ้ง การให้รัฐมีหน้าที่ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล กรณีลักษณะการกระทำที่กฎหมายถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล กรณีที่ให้ปฏิบัติต่อบุคคลได้อย่างแตกต่างกันโดยไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ การมีความรับผิดทางละเมิดการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติโดยคณะกรรมการ คชป. การฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจ การให้มีคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลและคณะกรรมการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกปฏิบัติ การให้มีสภาส่งเสริมความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลและมีบทกำหนดโทษที่เป็นมาตรการทางปกครองและโทษอาญา
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 กระทรวงยุติธรรม
1.2 สำนักงบประมาณ
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2.2 กระทรวงแรงงาน
2.3 กระทรวงศึกษาธิการ
2.4 กระทรวงการคลัง
2.5 สำนักงานอัยการสูงสุด
2.6 สภาทนายความ
2.7 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.8 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
2.9 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2.10 สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์
2.11 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
2.12 สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
2.13 มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
2.14 มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ
2.15 สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
2.16 มูลนิธิสายเด็ก ๑๓๘๗
2.17 มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย
2.18 สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
2.19 สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย
2.20 สมาคมเสริมสร้างชีวิต
2.21 มูลนิธิสถาบันเพื่อวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี IHRI
2.22 มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย
2.23 สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย
2.24 สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติโดยคณะกรรมการ คชป. เกี่ยวกับผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง การประสานงานร่วมกับองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ การตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน มาตรการคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัย การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คำสั่งคณะกรรมการ คชป. กรณีวินิจฉัยว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการของคณะกรรมการ คชป. ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด (ร่างมาตรา 9 ถึงร่างมาตรา 17 )
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดการฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจ เกี่ยวกับผู้มีสิทธิฟ้องคดี ค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหาย การยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาล การผลักภาระการพิสูจน์ และอายุความ (ร่างมาตรา 20 ถึงร่างมาตรา 23)
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดการให้มีคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และคณะกรรมการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกปฏิบัติ เกี่ยวกับองค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ การประชุมคณะกรรมการ การแต่งตั้งอนุกรรมการ/คณะทำงาน/ที่ปรึกษา การปฏิบัติหน้าที่ คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม และหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการ และบทเฉพาะกาล (ร่างมาตรา 24 ถึงร่างมาตรา 42 และมาตรา 52)
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดการให้มีสภาส่งเสริมความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เกี่ยวกับองค์ประกอบและที่มาของสมาชิกสภาส่งเสริม บทบาทของสภาส่งเสริม และการประชุมร่วมกับคณะกรรมการเพื่อจัดทำรายงานประเมินสภานการณ์การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลภาคประชาชน (ร่างมาตรา 43 ถึงร่างมาตรา 45)
5. ท่านเห็นว่าการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลมีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างไร และการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
6. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)