ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ได้กำหนดประเภทของโรงงานไว้ 3 ประเภท ได้แก่
โรงงานจำพวกที่ 1 คือ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ทันทีตามความประสงค์ของผู้ประกอบกิจการโรงงาน
โรงงานจำพวกที่ 2 คือ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่เมื่อจะประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน
โรงงานจำพวกที่ 3 คือ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่การตั้งโรงงานจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้
ซึ่งร่างพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. .... ฉบับนี้ มีประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อโรงงานทั้งสามประเภท ดังต่อไปนี้
1) กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจออกกฎกระทรวงโดยกำหนดให้การประกอบกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ทรัพย์สิน ประโยชน์สาธารณะรวมทั้งอาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้เป็นโรงงานจำพวกที่ 3 (ร่างมาตรา 3)
2) กำหนดให้มีการควบคุมการประกอบกิจการโรงงาน โดยให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงในเรื่องดังต่อไปนี้
2.1) กำหนดให้มีมาตรฐานโรงงานหรือมาตรฐานสากลเพื่อให้โรงงานมีความรับผิดชอบ
ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม (ร่างมาตรา 4)
2.2) กำหนดให้มีหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรมให้มีภารกิจและหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเข้าตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการเฉพาะภายใต้การกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ร่างมาตรา 4)
2.3) กำหนดให้มีโรงงานบางชนิดหรือประเภทที่ต้องทำประกันภัยกับผู้รับประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยประกันภัยเพื่อเป็นการคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน (ร่างมาตรา 4)
2.4) กำหนดให้ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมโดยกำหนดให้ผู้บริหารเขตประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัตินี้โดยมีหน้าที่ความรับผิดและสิทธิใด ๆ เสมือนเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงาน (ร่างมาตรา 5)
3) กรณีที่โรงงานจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือการประกอบกิจการของโรงงานจะก่อให้เกิดอันตรายความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานนั้นหยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวและปรับปรุงแก้ไขโรงงานจำพวกที่ 3 รวมทั้งสั่งปิดโรงงานและให้มีผลเป็นการเพิกถอนใบรับแจ้งสำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 หรือมีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสำหรับโรงงานจำพวกที่ 3 (ร่างมาตรา 6)
4) กำหนดให้เพิ่มหมวด 2/1 เกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่ง ซึ่งมีสาระสำคัญ (ร่างมาตรา 7) ดังนี้
4.1) ผู้ประกอบกิจการโรงงานและต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างหรือบุคคลใดได้กระทำไปในการทำงานและให้โรงงานรับผิดชอบต่อความเสียหาย โดยที่บทบัญญัติหมวดนี้ไม่ลบล้างหรือจำกัดหน้าที่และความรับผิดทางแพ่งที่บุคคลมีอยู่ตามบทบัญญัติกฎหมายอื่น
4.2) ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างหรือบุคคลใดกระทำไปในการทำงานให้แก่ตน แต่มีสิทธิไล่เบี้ยจากบุคคลดังกล่าว เว้นแต่ตนมีผลโดยตรงให้เกิดการละเมิดขึ้น และโรงงานที่เป็นต้นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต สุขภาพอนามัย ทรัพย์สินของผู้อื่น หรือของรัฐเสียหาย ผู้ประกอบกิจการมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายเพื่อการนั้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบกิจการโรงงานหรือไม่ก็ตาม
4.3) กรณีความเสียหายเกิดต่อบุคคล สัตว์ พืช หรือสิ่งแวดล้อม ถ้ารัฐได้รับความเสียหายเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าช่วยเหลือหรือดำเนินการใดเพื่อขจัดความเสียหายให้คืนสู่สภาพเดิม หรือเป็นความเสียหายต่อทรัพย์หรือเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินของแผ่นดิน เมื่อได้รับคำร้องขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของรัฐดังกล่าวได้
5) กำหนดให้มีการชดใช้ค่าสินไหมในเชิงลงโทษ กับโรงงานที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวง กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินประชาชนหรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ให้ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกิน 10 เท่าของค่าสินไหมทดแทน (ร่างมาตรา 8)
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 กระทรวงอุตสาหกรรม
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 กรมโรงงานอุตสาหกรรม
2.2 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
2.3 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
2.4 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
2.5 โรงงานภาคเอกชนที่ขออนุญาตประกอบกิจการ
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
3.1 ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรในการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้การประกอบกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ทรัพย์สิน ประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งอาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นโรงงานจำพวกที่ 3
2 ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรในการกำหนดให้มีมาตรฐานโรงงานหรือมาตรฐานสากลเพื่อให้โรงงานมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรมให้มีภารกิจและหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเข้าตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการเฉพาะภายใต้การกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้ง กำหนดให้โรงงานบางชนิดหรือประเภทต้องทำประกันภัยเพื่อเป็นการคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรในการกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรม โดยกำหนดให้ผู้บริหารเขตประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัตินี้โดยมีหน้าที่ความรับผิดและสิทธิใด ๆ เสมือนเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงาน และให้อำนาจปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานหยุดประกอบกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวและปรับปรุงแก้ไขโรงงานจำพวกที่ 3 รวมถึงสั่งปิดโรงงานและให้มีผลเป็นการเพิกถอนใบรับแจ้งสำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 หรือมีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสำหรับโรงงานจำพวกที่ 3 หากปรากฏว่าโรงงานจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือการประกอบกิจการของโรงงานจะก่อให้เกิดอันตรายความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในหรือใกล้เคียงกับโรงงาน
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรในการกำหนดให้เพิ่มความรับผิดทางแพ่งกับผู้ประกอบกิจการโรงงาน โดยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างหรือบุคคลใดได้กระทำไปในการทำงานและให้โรงงานรับผิดชอบต่อความเสียหาย รวมถึงกำหนดให้มีบทบัญญัติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในเชิงลงโทษโดยจ่ายเป็นค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 10 เท่าของค่าสินไหมทดแทน กับโรงงานที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือประกาศของรัฐมนตรี กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินประชาชนหรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
5. ปัจจุบันการประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ท่านคิดว่ามีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติโรงงาน ฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร
6. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)