สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยประชาชน ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,685 คน
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่การพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้มีการใช้สารเคมีในการผลิตทางอุตสาหกรรม การเกษตร และการบริการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการปล่อยสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมตลอดเวลา พื้นที่หลายแห่งจึงกลายเป็นแหล่งกำเนิดและแหล่งรองรับสารมลพิษ ทั้งในรูปของมลพิษทางอากาศ น้ำเสีย มลพิษในดิน และของเสียอันตรายอื่น ๆ ปัญหาดังกล่าวนับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อสุขภาพของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และก่อความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อสังคม เศรษฐกิจ ความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศโดยรวม กฎหมายและกลไกการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังคงเน้นการใช้มาตรการกำกับแสะควบคุมที่ปลายทางเป็นหลัก การตรากฎหมายเพื่อพัฒนาระบบการรายงานข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม จึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลสารมลพิษที่ครอบคลุมและเป็นระบบอันจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพและความเข้มแข็ง แก่หน่วยงานของรัฐในการประเมินสถานการณ์ปัญหามลพิษได้อย่างถูกต้อง มีข้อมูลที่ดีเพื่อประกอบการวางแผนการป้องกันสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสามารถจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้ง เป็นการรับรองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรการดังกล่าวยังจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถตรวจสอบระบบและกระบวนการผลิตของตนให้รัดกุม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินกิจการและการแข่งขันทางการค้าในระยะยาว อีกทั้ง เป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความเสี่ยงภัยจากสารเคมีและ
สารมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2548 และเป็นไปตามหลักการของปฏิญญาริโอเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา แผนปฏิบัติการ 21 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ยังมีความจำเป็นต้องใช้ระบบคณะกรรมการข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษในการให้ความเห็นต่อประกาศกระทรวงที่กรมควบคุมมลพิษเสนอ หรือให้ความเห็นชอบข้อกำหนดและวิธีปฏิบัติงานที่กรมควบคุมมลพิษเสนอเกี่ยวกับการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลการจัดทำฐานข้อมูล วิธีการตรวจทานความถูกต้องของข้อมูล การประกันคุณภาพ เป็นต้น ตลอดจนกำหนดโทษทางปกครองและโทษทางอาญาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพและป้องกันการกระทำผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

   1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

   2) กรมควบคุมมลพิษ   

   3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหาร
ส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา)

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

   1) กระทรวงสาธารณสุข

   2) กระทรวงอุตสาหกรรม

   3) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

   4) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

   5) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

   6) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

   7) องค์การจัดการน้ำเสีย

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยทั่วไป

     ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ตามร่างมาตรา 5 ถึงร่างมาตรา 14 หรือไม่ อย่างไร

2. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีการประเมินปริมาณสารมลพิษซึ่งไม่มีแหล่งกำเนิดแน่นอน ตามร่างมาตรา 15 และร่างมาตรา 16 หรือไม่ อย่างไร

3. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีการจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ จากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ตามร่างมาตรา 17 ถึงร่างมาตรา 22 หรือไม่ อย่างไร

4. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ตามร่างมาตรา 23 ถึงร่างมาตรา 27 หรือไม่ อย่างไร

5. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชน ตามร่างมาตรา 28 และ ร่างมาตรา 29 หรือไม่ อย่างไร

6. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามร่างมาตรา 30 และร่างมาตรา 31 หรือไม่ อย่างไร

7. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามร่างมาตรา 32 ถึงร่างมาตรา 34 หรือไม่ อย่างไร

8. ท่านเห็นว่าการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม มีปัญหาในทาง ปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด

9. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)