สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักการทางอาญาตามมาตรฐานสากล ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น รูปแบบและโครงสร้างของคณะกรรมการราชทัณฑ์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง ดังนั้น จึงควรแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีความรัดกุม โปร่งใส และสอดคล้องกับหลักการในทางสากล ซึ่งร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญในการกำหนดบทนิยามและองค์ประกอบของ “คณะกรรมการอิสระ” และ “กรรมการอิสระ” ขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง กำหนดองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการราชทัณฑ์และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการราชทัณฑ์ขึ้นใหม่ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง โดยจะพึงกระทำได้ต่อเมื่อนักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้น หรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งในกรณีต้องโทษจำคุกในคดี ในกรณีต้องโทษจำคุกในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายในความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าตามกฎหมายกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด คดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดเกี่ยวกับทุจริตการเลือกตั้งตามกฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมือง ทั้งนี้ ให้รวมถึงกรณีต้องโทษจำคุกในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา รวมทั้งกำหนดให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รวบรวบข้อเท็จจริงแล้วส่งให้คณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขังเป็นผู้พิจารณาตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วยื่นคำร้องต่อศาลที่คดีถึงที่สุดเพื่อพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่ง

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

     1. กระทรวงยุติธรรม

     2. กรมราชทัณฑ์

ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

     1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

     2. กระทรวงมหาดไทย

     3. กระทรวงแรงงาน

     4. กระทรวงศึกษาธิการ

     5. กระทรวงสาธารณสุข

     6. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

     7. สำนักงานศาลยุติธรรม

     8. สำนักงานอัยการสูงสุด

     9. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

     10. สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

     11. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

     12. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

     13. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

     14. สำนักงานศาลปกครอง

     15. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

     16. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

     17. มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

     18. สมาคมสายใยครอบครัว

     19. สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย

     20. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

     21. มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ

     22. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

     ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ หรือมีความเห็นอย่างไร เกี่ยวกับการกำหนดบทนิยามคำว่า "คณะกรรมการอิสระ" และ "กรรมการอิสระ" องค์ประกอบและที่มา หน้าที่และอำนาจ วาระการดำรงตำแหน่ง ตลอดจนการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการอิสระ ตามร่างมาตรา 3 และร่างมาตรา 8

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ หรือมีความเห็นอย่างไร เกี่ยวกับการกำหนดเพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการราชทัณฑ์โดยตำแหน่ง กระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง ตลอดจนการพ้นจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ตามร่างมาตรา 4 - ร่างมาตรา 7

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ หรือมีความเห็นอย่างไร ในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่ในการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง รวมทั้งกำหนดให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รวบรวมข้อเท็จจริงแล้วส่งให้คณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลที่คดีถึงที่สุดเพื่อพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งศาลที่ให้ลดวันต้องโทษจำคุกหรือพักการลงโทษให้เป็นที่สุด ตามร่างมาตรา 9 - ร่างมาตรา 12

     4. ในปัจจุบันท่านคิดว่า การดำเนินการตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

     5. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)