สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เนื่องจากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการที่ทำให้เกษตรกรถูกจำกัดสิทธิในการนำที่ดินที่ได้รับจัดสรรจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไปจัดทำที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบทและไม่สามารถโอนที่ดินไปยังเกษตรกรอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้เนื่องจากมีการกำหนดให้ที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสามารถตกทอดโดยทางมรดกหรือเป็นการโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น นอกจากนี้ ปัจจุบันยังขาดการจัดทำฐานข้อมูลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายเกี่ยวกับที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดินที่ถูกจัดสรรเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตลอดจนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการและการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเกี่ยวกับที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เป็นไปโดยโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการหารายได้ของเกษตรกรจากการจัดทำที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบทให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

     1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

     2) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

     1) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

     2) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

     3) สมาคมชาวเกษตรกรไทย

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

     ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยกับกำหนดบทนิยามของคำว่า "การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม" คำว่า "เกษตรกรรม" และคำว่า "การจัดทำที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท" ตามร่างมาตรา 3 และร่างมาตรา 4 หรือไม่ อย่างไร

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดหาที่ดินของรัฐเพื่อนำมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินฯ ต้องจัดทำฐานข้อมูลและเผยแพร่ต่อสาธารณชน รวมถึงการเผยแพร่ต่อสาธารณชน

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสามารถโอนไปยังเกษตรกรอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมได้

     4. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาและมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร

     5. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)