สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เนื่องจากปัจจุบันมีการปิดกั้น และจํากัดการสร้างภาพยนตร์ไทยตามมุมมองค่านิยมความเชื่อของไทยมากเกินไป ทำให้การประกอบธุรกิจการสร้างภาพยนตร์ไทยไม่สามารถพัฒนาให้มีความน่าสนใจและแข่งขันกับธุรกิจภาพยนตร์จากต่างประเทศได้ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวให้มีการผ่อนคลายมาตรการการจํากัด รวมถึงให้มีการปกป้องการทำลายสถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และสิ่งแวดล้อม และมีการกําหนดให้การสร้างภาพยนตร์ไทยนั้นจะต้องมีการสะท้อนถ่ายทอดให้ทั่วโลกรู้จัก สนใจและประทับใจในประเทศไทย เอกลักษณ์ความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย ค่านิยมไทย เพื่อนําต้นทุนที่มีอยู่เหล่านั้นมาประยุกต์ ผสมผสานเพื่อเพิ่มมูลค่าผ่านการเล่าเรื่อง ผ่านภาพยนตร์ ดึงดูดให้คนสนใจในประเทศไทยมากขึ้น จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย และพัฒนาธุรกิจการสร้างภาพยนตร์ไทยต่อไป  โดยมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดในการสร้างภาพยนตร์ การกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างภาพยนตร์ที่มีผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นของรัฐหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตลอดจนการเพิ่มโทษผู้ที่ฝ่าฝืน

ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง                                

  1. สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
  2. สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  3. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
  4. สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ

2.   ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม

  1. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
  2. สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
  3. สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
  4. สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  5. สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
  6. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
  7. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  8. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
  9. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
  10. สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
  11. สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  12. กรมการศาสนา
  13. หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

3.   ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป

      - ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดในการสร้างภาพยนตร์
    ที่ให้ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องดำเนินการสร้างภาพยนตร์ในลักษณะที่ไม่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง บ่อนทำลายสถาบันศาสนา บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออาจจะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง และเกียรติภูมิของประเทศไทย และรวมถึง การกำหนดให้ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องสร้างภาพยนตร์ในลักษณะที่มีเนื้อหาที่สะท้อนถ่ายทอดให้ทั่วโลกรู้จัก สนใจและประทับใจในประเทศไทย เอกลักษณ์ความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย ค่านิยมไทย
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้สร้างภาพยนตร์จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ในกรณีที่การสร้างภาพยนตร์มีผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ก่อนที่จะมีการสร้างภาพยนตร์
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์สั่งให้ผู้ขออนุญาตตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 แก้ไขหรือตัดทอน หรือจะไม่อนุญาตก็ได้ กรณีเห็นว่าภาพยนตร์มีเนื้อหาขัดแย้งและไม่เป็นไปตามข้อกำหนด
    ในการสร้างภาพยนตร์ตามที่มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมในข้อ 1
  4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการเสนอเพิ่มโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนตามบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องสร้างภาพยนตร์ในลักษณะที่มีเนื้อหาที่สะท้อนถ่ายทอดให้ทั่วโลกรู้จัก สนใจและประทับใจในประเทศไทย เอกลักษณ์ความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย ค่านิยมไทย
  5. ท่านมีความคิดเห็นว่าการดำเนินการเกี่ยวกับข้อกำหนดในการสร้างภาพยนตร์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีสภาพปัญหาอย่างไร และการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร
  6. ข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะอื่นๆ (ถ้ามี)