สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นางสาวภคมน หนุนอนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     เนื่องจากปัจจุบันความรุนแรงและภัยคุกคามทางเพศได้เกิดขึ้นในสังคมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) เป็นปัจจัยหนึ่งของการสร้างความรุนแรงทางเพศ และเป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำผิดทางเพศอย่างอื่น เช่น ปัญหาข่มขืนกระทำชำเราหรือปัญหาอนาจาร เป็นต้น อีกทั้ง การคุกคามทางเพศยังเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและเป็นปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งการคุกคามทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ในทุก ๆ ที่ ทุกเวลาในสังคม ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก ประกอบกับกฎหมายที่บังคับเกี่ยวกับการคุกคามในปัจจุบันเป็นเพียงความผิดลหุโทษ กำหนดลักษณะการกระทำความผิดไว้อย่างกว้าง ขาดความชัดเจน กำหนดลักษณะพฤติกรรมการคุกคามทางเพศโดยการสัมผัสทางกายเพียงอย่างเดียว ไม่ครบคลุมถึงการคุกคามทางเพศด้วยวิธีการอื่น ทำให้ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ไม่สามารถคุ้มครองประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการถูกคุกคามทางเพศได้ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงต้องตรากฎหมายให้ได้มาตรฐานและมีแนวทางป้องกันปัญหาทางเพศในสังคม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

     1.1 สำนักงานศาลยุติธรรม

     1.2 สำนักงานอัยการสูงสุด

     1.3 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

     2.1 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

     2.2 กรมคุมประพฤติ

     2.3 มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี

     2.4 สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

     ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นว่าการเพิ่มบทคำนิยาม คำว่า “คุกคามทางเพศ” มีความเหมาะสมและครอบคลุมการคุกคามทางเพศ หรือไม่ อย่างไร

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้คำสั่งงดเว้นการกระทำการ เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการที่ศาลสามารถสั่งผู้ถูกฟ้องไม่ให้กระทำการใด ๆ อันเป็นการคุกคาม รบกวน ข่มขู่ หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญ

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้การคุกคามทางเพศและการคุกคามทางเพศที่กระทำโดยผ่านช่องทางการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และการกำหนดอัตราโทษมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร

     5. ท่านเห็นว่าการคุกคามทางเพศในปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร

     6. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)