โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองให้บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน รวมถึงการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความเชื่อทางศาสนาอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ แม้ในปัจจุบันการส่งเสริมการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่กฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันมีเพียงพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตต์จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 อันเป็นกฎหมายเพียงฉบับเดียวที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ที่มีการใช้บังคับกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งยังปรากฎปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในหลายประเด็น อาทิ สภาพการบังคับใช้ในประเทศไทยไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอิสลามกับมุสลิมทั่วทั้งประเทศ แต่ให้ใช้บังคับในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล เท่านั้น สมควรที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นระหว่างรัฐกับประชาชน เพื่อให้บุคคลเสมอกันในกฎหมายและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม รวมถึงทำให้บุคคลผู้นับถือศาสนาอิสลามสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและทำให้สังคมมีความมั่นคงปลอดภัย สอดคล้องกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กำหนดสาระสำคัญให้ยกเลิกให้พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตต์จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 และมีการกำหนดบทนิยามคำว่า “มุสลิม” “ศาล” และ“ดะโต๊ะยุติธรรม” พร้อมทั้งกำหนดให้การพิจารณาพิพากษาและวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดก รวมถึงสภาพและสิทธิของบุคคลอื่นเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดก ซึ่งมุสลิมเป็นคู่ความในขณะมูลคดีเกิด หรือมุสลิมเป็นผู้เสนอคำขอในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท หรือในคดีที่เกี่ยวกับมรดกในกรณีที่เจ้ามรดกเป็นมุสลิม ให้ใช้บังคับตามหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก และกำหนดให้มีองค์คณะคดีครอบครัวและมรดกอิสลามในศาลแพ่ง ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลจังหวัด และศาลฎีกา และมีการกำหนดกระบวนการพิจารณาคดี ไว้เป็นการเฉพาะ
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1) สำนักงานศาลยุติธรรม
1.2) สำนักจุฬาราชมนตรี
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1) สำนักงานเลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด
2.2) กรมบังคับคดี
2.3) สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์
2.4) สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
2.5) มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย
2.6) สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดบทนิยามคำว่า “มุสลิม” “ศาล” และ“ดะโต๊ะยุติธรรม” หรือไม่
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้การพิจารณาพิพากษาและวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดก รวมถึงสภาพและสิทธิของบุคคลอื่นเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดก
ให้ใช้บังคับตามหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้กรณีที่มีความเห็นขัดแย้งหรือต้องตีความ
ตามหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ให้องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาคดีครอบครัว
และมรดกอิสลามเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีองค์คณะคดีครอบครัวและมรดกอิสลาม
ในศาลแพ่ง ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลจังหวัด และศาลฎีกา
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาและพิพากษาคดี และให้ดะโต๊ะยุติธรรมเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม รวมทั้งมีสิทธิและสวัสดิการเช่นเดียวกับผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม
6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีอิสลาม
7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้คู่กรณีสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต่อศาลฎีกาได้
8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาใช้บังคับกับกระบวนการพิจารณาคดี การบังคับคดีหรือการดำเนินการใดในศาลชั้นต้นและศาลฎีกาโดยอนุโลม เฉพาะกรณีที่มิได้บัญญัติไว้ในมาตรา 5
9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้โอนบรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องแล้วหรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลใดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตต์จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ 2489 ก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไปเป็นคดีของศาลแพ่ง ศาลเยาวชนและครอบครัวและศาลจังหวัดในจังหวัดนั้น
10. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตต์จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มีปัญหาในการบังคับใช้หรือไม่ และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อให้มีสภาพบังคับทั้งประเทศ จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
11. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)