สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. .....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายนิกร จำนง ส.ส. พรรคชาติไทยพัฒนา กับคณะผู้เสนอ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

    ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีจราจร
    ให้มีการจัดตั้งแผนกคดีจราจรในศาลแขวงและศาลจังหวัดในกรุงเทพมหานคร ศาลแขวงนนทบุรี ศาลแขวงสมุทรปราการ ศาลแขวงในจังหวัดอื่นและศาลจังหวัดในท้องที่ที่ไม่ศาลแขวง 
ให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีจราจรโดยเฉพาะ เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจราจรเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม
    คดีจราจรคือ 
    1. คดีความผิดฐานขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือเมาอย่างอื่น
    2. คดีความผิดที่เปรียบเทียบปรับได้ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งผู้ขับขี่ เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถ ฝ่าฝืนหรือ
ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ชำระค่าปรับ ไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบ ไม่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ ทั้งนี้ โดยที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น
    3. ความผิดอื่นตามที่จะมีการกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
    กระบวนการพิจารณาคดีจราจร 
    การดำเนินคดีจราจรให้เป็นไปตามกฎหมายนี้และกระบวนการพิจารณาคดีตามข้อกำหนดซึ่งออกโดยประธานศาลฎีกา 
    การดำเนินคดีจราจรชั้นก่อนกระบวนการพิจารณา 
    ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมตัวผู้ต้องหาความผิดที่มีอัตราโทษไม่เกินความผิด
ลหุโทษควบคุมตัวได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ (ความผิดลหุโทษ คือ ความผิดซึ่งต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ มาตรา ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา) ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียวไม่เกินเจ็ดวัน และความผิดที่อัตราโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินห้าร้อยบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดกัน ครั้งหนึ่งไม่เกินสิบสองวัน รวมกันไม่เกินสี่สิบแปดวัน
    ให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานตามใบสั่งหากเห็นว่ามีพยานหลักฐานตามสมควรว่าผู้ถูกออกใบสั่งน่าจะกระทำความผิดให้ออกใบนัดให้ไปศาลแก่ผู้ถูกออกใบสั่ง และให้ส่งคู่ฉบับใบนัดให้ไปศาลพร้อมด้วยคู่ฉบับใบสั่งและพยานหลักฐานไปยังศาล และให้พนักงานอัยการลงชื่อในคู่ฉบับใบนัด โดยให้ถือว่าเป็นคำฟ้องโดยไม่ต้องทำการสอบสวน

    การดำเนินคดีชั้นศาล
    ให้ศาลมีอำนาจในการตรวจคำฟ้อง (ใบสั่ง) ก่อนประทับรับฟ้อง การพิจารณาคดีถ้าจำเลยขาดนัดตามที่กำหนดนัดให้ศาลมีอำนาจพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำลนมีกำหนดไม่เกินเก้าสิบวันและออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาล หากยังฝ่าฝืนศาลมีอำนาจออกหมายจับ
    การพิจารณาคดีให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย ให้ศาลอ่านและอธิบายคำฟ้อง และในคดีจราจรคู่ความไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยาน และการสืบพยานใช้ระบบไต่สวน คือ ศาลมีอำนาจแสวงหาพยานเอง
    การพิจารณาชั้นอุทธรณ์
    ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นได้ภายในสิบห้าวัน โดยห้ามคู่ความอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง เว้นกรณีจำเลยถูกพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ คำพิพากษาและคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้ถือเป็นที่สุด
    การบังคับคดี
    นอกเหนือจากการบังคับใช้โทษทางอาญา ศาลมีอำนาจอกคำสั่งใช้วิธีการดังต่อไปนี้แก่จำเลยได้ พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ ส่งเข้ารับการศึกษาหรืออบรมด้านจราจรตามระยะเวลาที่เห็นสมควร ตัดคะแนนความประพฤติ ห้ามใช้รถภายในระยะเวลาที่กำหนด
 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. ศาล ผู้พิพากษา 
  2. อัยการ
  3. ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ สำนักงานศาลยุติธรรม
  4. ตำรวจจราจร 
  5. ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก
  6. ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน 
     

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ควรกำหนดให้มีแผนกคดีจราจรขึ้นในศาลแขวงและศาลจังหวัดในท้องที่ที่ไม่ศาลแขวง หรือไม่
  2.  ประเภทความผิดคดีจราจรที่กำหนดไว้มีความเหมาะสมแล้วหรือไม่
  3. กระบวนการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน และการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์มีความเหมาะสมแล้วหรือไม่
  4. การกำหนดรูปแบบการบังคับคดีนอกเหนือจากโทษทางอาญามีความเหมาะสมแล้วหรือไม่