สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น รอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

           ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗  เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการดูแลสัตว์ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ขาดความชัดเจนของถ้อยคำ เกิดปัญหาในการตีความจนทำให้ผู้กระทำการทารุณกรรมสัตว์เข้าเหตุยกเว้นว่ามีเหตุอันสมควรและไม่มีความผิด ขาดกลไกการทำงาน เทคโนโลยีและการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับเหตุยกเว้นหรือการกระทำใดที่ไม่เป็นการทารุณกรรมสัตว์ ให้ชัดเจน กำหนดช่องทางให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือสัตว์โดยขอรับสัตว์ไปเลี้ยง กำหนดให้มีเงินอุดหนุนสถานสงเคราะห์สัตว์เพื่อช่วยเหลือให้การจัดสวัสดิภาพสัตว์สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างเหมาะสม และกำหนดให้มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจดทะเบียนสัตว์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถติดตามสัตว์ได้เพื่อคุ้มครองมิให้สัตว์ถูกทารุณกรรมและบริหารจัดการการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3) ดังนี้        

      1.1 คำว่า “สัตว์” เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูจากมนุษย์และไม่ต้องมีบัญชีหรือขึ้นทะเบียนไว้ (ร่างมาตรา 3)

      1.2 เพิ่มบทนิยามคำว่า “ผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่” เพื่อกำหนดให้มีผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 4)  

   2. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 และมาตรา 8) ดังนี้

       2.1 แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง โดยตัดกรรมการที่มาจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ออก และเพิ่มจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากจำนวนเจ็ดคนเป็นจำนวนสิบสองคน (ร่างมาตรา 5)

       2.2 เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้แก่คณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในการกำหนดขอบเขตหรือปริมาณงานอันสมควรแก่สัตว์หรือกำหนดลักษณะงานอันไม่สมควรเพราะ เหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชรา หรืออ่อนอายุ (ร่างมาตรา 6)  

 

3. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11 และมาตรา 13) ดังนี้

     3.1 กำหนดให้คณะบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์หรือดําเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ การป้องกันการทารุณกรรมหรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์และไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือแสวงหากําไร ให้จดทะเบียนเป็นองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ต่อนายทะเบียน (ร่างมาตรา 7)

     3.2 กำหนดให้นายทะเบียนมีอํานาจเพิกถอนการจดทะเบียนขององค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์      ในกรณีที่ปรากฏว่าองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ได้ดําเนินกิจกรรมโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือดําเนินการในทางการเมืองหรือแสวงหากําไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันหรือกระทําการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (ร่างมาตรา 8)

4. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยสถานสงเคราะห์สัตว์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 14 มาตรา 15 และมาตรา 16) ดังนี้

      4.1 กำหนดให้ผู้ซึ่งจัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ดำเนินกิจกรรมในลักษณะที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือไม่แสวงหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันให้จดทะเบียนเป็นสถานสงเคราะห์สัตว์ต่อนายทะเบียน ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจดทะเบียนเป็นสถานสงเคราะห์สัตว์ต้องมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับหรือเป็นมาตรฐานที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ให้มีมาตรฐานสากล (ร่างมาตรา 9)

       4.2 กำหนดให้ผู้ซึ่งจัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ได้จดทะเบียนแล้วอาจได้รับการสนับสนุน   จากกรมปศุสัตว์หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำระบบ หรือหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ประชาชนขอสัตว์จากสถานสงเคราะห์สัตว์เพื่อนำไปเป็นสัตว์บ้าน หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อให้เป็นเพื่อนหรือเพื่อการอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 10)

       4.3 กำหนดให้นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนสถานสงเคราะห์สัตว์ ในกรณีที่สถานสงเคราะห์สัตว์กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์หรือไม่จัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสมรวมทั้งกำหนดให้มีระเบียบเกี่ยวกับการให้เงินอุดหนุนการจัดสวัสดิภาพสัตว์แก่สถานสงเคราะห์สัตว์ตามที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อประโยชน์ในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม และช่วยเหลือสถานสงเคราะห์สัตว์มิให้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียน (ร่างมาตรา 11)

5. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17 และมาตรา 18
วรรคหนึ่ง) ดังนี้

       5.1 กำหนดให้คณะบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์หรือดําเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมหรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์และไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือแสวงหากําไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันหรือผู้ซึ่งจัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ดําเนินกิจกรรมในลักษณะที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือไม่แสวงหากําไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่งไม่รับจดทะเบียนจากนายทะเบียน (ร่างมาตรา 12)

       5.2 กำหนดให้องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์หรือสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ได้จดทะเบียนแล้วมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่งให้ระงับการดําเนินกิจกรรมโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือดําเนินการในทางการเมืองหรือแสวงหากําไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันหรือกระทําการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่จัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม (ร่างมาตรา 13)

6. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 20 และมาตรา 21)

        6.1 แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามมิให้กระทําการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์เพื่อให้เกิดความชัดเจน (ร่างมาตรา 14)

        6.2 กำหนดให้การตัด หู หาง ขน เขา หรืองาเพื่อสุขอนามัยของสัตว์โดยไม่เป็นอันตราย   ต่อสัตว์หรือการดำรงชีวิตของสัตว์ ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ (ร่างมาตรา 15)

7. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 22 และมาตรา 23)

        7.1 กำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องดําเนินการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงและจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดซึ่งอย่างน้อยต้องมีขั้นตอนการจดทะเบียนสัตว์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สามารถติดตามสัตว์ได้ (ร่างมาตรา 16)

        7.2 กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทําการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนหรือให้เป็นภาระของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร (ร่างมาตรา 17)

8. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 30)  

        8.1 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจหน้าที่ในการยึดหรืออายัดสัตว์หรือซากของสัตว์ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าถูกฆ่าหรือถูกทารุณกรรมหรือได้รับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ไม่เหมาะสม รวมทั้งเอกสาร หลักฐาน ยานพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี (ร่างมาตรา 18)

        8.2 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำร้องหรือเห็นว่าการให้สัตว์อยู่ในความครอบครองของเจ้าของอาจจะถูกทารุณกรรมหรือได้รับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ไม่เหมาะสมอีก พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเสนอให้ศาลพิจารณาสั่งห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้กระทำความผิดนั้นครอบครองสัตว์ดังกล่าวเป็น
การชั่วคราว และมอบให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้ครอบครองหรือดูแลสัตว์นั้นจนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง (ร่างมาตรา 19)

        8.3 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ตามความเหมาะสมในกรณีที่พบสัตว์ถูกปล่อย ละทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของหรือเจ้าของไม่สามารถดูแลสัตว์ได้อีกต่อไป(ร่างมาตรา 20)

        8.4 กำหนดให้ผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่      ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 21)

9. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยบทกำหนดโทษ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 32)

         9. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดไม่มีความสามารถ         ในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสมศาลอาจสั่งห้ามผู้กระทำความผิดครอบครองสัตว์เป็นการชั่วคราวหรือโดยถาวรก็ได้ (ร่างมาตรา 22)

10. การกำหนดให้ผู้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 11 และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป้องกัน
การทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เป็นผู้ได้รับการจดทะเบียนตามมาตรา 11 และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัตินี้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุการขึ้นทะเบียน

ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

    1.1 สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

    1.2 สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

    1.3 กรมปศุสัตว์

    1.3 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

    2.1 กรมประมง

    2.2 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

    2.3 กรมการศาสนา

    2.4 กรมประชาสัมพันธ์

    2.5 สัตวแพทยศาสตร์

    2.6 องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

    2.7 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

    2.8 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

    2.9 สมาคมป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งประเทศไทย

    2.10 เครือข่ายต่อต้านการค้าสุนัข

    2.11 มูลนิธิรักษ์สัตว์ป่า

    2.12 มูลนิธิเพื่อสัตว์ป่า

    2.13 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกประเทศไทย

    2.14 สมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย)

    2.15 องค์กรสวัสดิภาพสัตว์ The Hope Thailand 

    2.16 มูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ Watchdog  Thailand  (WDT)

    2.17 สมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยทั่วไป

   ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สัตว์” และ คำว่า “ผู้ช่วย   พนักงานเจ้าหน้าที่” ตามร่างมาตรา 3 และร่างมาตรา 4

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งขึ้นใหม่ และเพิ่มจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากจำนวนเจ็ดคนเป็นจำนวนสิบสองคน รวมถึงการเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้แก่คณะกรรมการฯ   ตามร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6 

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยกำหนดให้คณะบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์หรือดําเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมหรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์และไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือแสวงหากําไรให้จดทะเบียนเป็นองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ต่อนายทะเบียน และหากปรากฏว่าองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ดังกล่าวได้ดําเนินกิจกรรมโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือดําเนินการในทางการเมืองหรือแสวงหากําไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันหรือกระทําการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้นายทะเบียนมีอํานาจเพิกถอนการจดทะเบียนขององค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์นั้น ตามร่างมาตรา 7 และร่างมาตรา 8 

 4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยสถานสงเคราะห์สัตว์โดยกำหนดให้ผู้ซึ่งจัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ดำเนินกิจกรรมในลักษณะที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือไม่แสวงหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันให้จดทะเบียนเป็นสถานสงเคราะห์สัตว์ต่อนายทะเบียน    และอาจได้รับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำระบบ   หรือหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ประชาชนขอสัตว์จากสถานสงเคราะห์สัตว์เพื่อนำไปเป็นสัตว์บ้าน   หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อให้เป็นเพื่อนหรือเพื่อการอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด รวมถึงการกำหนดให้มี ระเบียบเกี่ยวกับการให้เงินอุดหนุนการจัดสวัสดิภาพสัตว์แก่สถานสงเคราะห์สัตว์ตามที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อประโยชน์ในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม และช่วยเหลือสถานสงเคราะห์สัตว์มิให้
ถูกเพิกถอนการจดทะเบียน ตามร่างมาตรา 9 ร่างมาตรา 10 และร่างมาตรา 11

5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยอุทธรณ์ โดยกำหนดให้กรณีที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียน ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่งไม่รับจดทะเบียนจากนายทะเบียน และกำหนดให้กรณีที่องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์หรือสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ได้จดทะเบียนแล้ว มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่งให้ระงับการดําเนินกิจกรรมโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือดําเนินการในทางการเมืองหรือแสวงหากําไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันหรือกระทําการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่จัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม ตามร่างมาตรา 12 ร่างมาตรา 13

6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ โดยกำหนดห้ามมิให้กระทําการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์ทุกกรณี และรวมถึงกำหนดให้
การตัด หู หาง ขน เขา หรืองาเพื่อสุขอนามัยของสัตว์โดยไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์หรือการดำรงชีวิตของสัตว์ ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ตามร่างมาตรา 14 และร่างมาตรา 15

7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการจัดสวัสดิภาพสัตว์โดยกำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องดําเนินการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงและจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีขั้นตอนการจดทะเบียนสัตว์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สามารถติดตามสัตว์ได้ และกำหนดห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทําการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนหรือให้เป็นภาระของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามร่างมาตรา 16 และร่างมาตรา 17

8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่โดยกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจหน้าที่ในการยึดหรืออายัดสัตว์หรือซากของสัตว์ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าถูกฆ่าหรือถูกทารุณกรรมหรือได้รับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ไม่เหมาะสม รวมทั้งเอกสาร หลักฐาน ยานพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี และกำหนดให้อาจเสนอให้ศาลพิจารณาสั่งห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้กระทำความผิดนั้นครอบครองสัตว์ดังกล่าวเป็นการชั่วคราว และมอบให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้ครอบครองหรือดูแลสัตว์นั้นจนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง หากเห็นว่าการให้สัตว์อยู่ในความครอบครองของเจ้าของอาจจะถูกทารุณกรรมหรือได้รับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ไม่เหมาะสมอีก รวมถึงกำหนดให้ดําเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ตามความเหมาะสมในกรณีที่เจ้าของไม่สามารถดูแลสัตว์ได้อีกต่อไป และกำหนดให้ผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ตามร่างมาตรา 18 ร่างมาตรา 19 และร่างมาตรา 20 และร่างมาตรา 21

9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดไม่มีความสามารถในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสมศาลอาจสั่งห้ามผู้กระทำความผิดครอบครองสัตว์
เป็นการชั่วคราว หรือโดยถาวรก็ได้ ตามร่างมาตรา 22

10. ปัจจุบันการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ท่านคิดว่ามีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร

11. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)