สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิด อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นการเสนอกฎหมายใหม่โดยมีหลักการเพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีเหตุผลเนื่องจากได้ปรากฏความขัดแย้งทางการเมืองอันเป็นเหตุให้มีการเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชน ตลอดจนมีการกระทำอื่นใดไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็น อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงนับตั้งแต่การชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 การยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และการยึดอำนาจรัฐโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สืบเนื่องจนถึงปัจจุบันอันนำไปสู่การกล่าวหาและดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมาก ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนนั้นได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าวเพื่อขจัดความขัดแย้งที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมใช้และตีความการกระทำความผิดแต่เพียงตามองค์ประกอบทางกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงมูลเหตุจูงใจของการกระทำอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น ภายใต้โครงสร้างแห่งระบบกฎหมายปกติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงไม่สามารถขจัดความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ เพราะการแสดงออกของประชาชนอันมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งทางการเมือง จึงจำเป็นต้องจัดตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม เพื่อให้วินิจฉัยกรณีการกระทำความผิดอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ร่างพระราชบัญญัตินี้มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. กำหนดหลักการในการนิรโทษกรรม ประกอบด้วย (ร่างมาตรา 3)

(1) ลักษณะของการกระกระทำ มี 2 กรณี คือ 1) เป็นการกระทำใด ๆ ของผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง หรือ 2) ไม่ได้เป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองตามประกาศของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม

(2) ช่วงระยะเวลาของการกระทำ เป็นกรณีที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ

 

(3) มูลเหตุและผลของการกระทำ การได้รับนิรโทษกรรมต้องเป็นลักษณะและช่วงระยะเวลาของการกระทำตามข้อ (1) และ (2) ข้างต้น โดยไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพ
หรือแสดงความคิดเห็น หากเป็นความผิดตามกฎหมายที่ผู้กระทำได้กระทำไปโดยมี “มูลเหตุจูงใจทางการเมือง” ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง

(4) เงื่อนไขของการกระทำ การนิรโทษกรรมนี้ให้ดำเนินการเท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

2. กำหนดข้อยกเว้นเพื่อไม่ให้การกระทำดังต่อไปนี้ได้รับการนิรโทษกรรม คือ (1) การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุม ไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด อันเป็นการกระทำเกินสมความแก่เหตุ  (2) การกระทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่เป็นการกระทำโดยประมาท และ  (3) การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวให้ใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในความผิดนั้นด้วย(ร่างมาตรา 4)

3. กำหนดกลไกในการนิรโทษกรรมโดยให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม มีองค์ประกอบจำนวน 9 คน ซึ่งประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานกรรมการ  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นรองประธานกรรมการ  และให้บุคคลซึ่งได้รับเลือกโดยคณะรัฐมนตรี จำนวน 1 คน  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 2 คน  ผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 1 คน  ตุลาการหรืออดีตตุลาการในศาลปกครอง ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 1 คน  และพนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการ ซึ่งได้รับเลือกโดยคณะกรรมการอัยการ จำนวน 1 คน เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการและเลขานุการ (ร่างมาตรา 5)

4. กำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม คือ (1) วินิจฉัยการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ผู้กระทำมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และ (2) วินิจฉัยกรณีที่มีข้อสงสัยว่าการกระทำใดตกอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้อันทำให้ได้รับการนิรโทษกรรมตามมาตรา 3  (ร่างมาตรา 7)

5. กำหนดให้การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม ผู้ได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ย่อมไม่สามารถเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเป็นผลจากการที่ตนได้รับนิรโทษกรรมได้ทั้งสิ้น (ร่างมาตรา 11)

6. กำหนดให้การดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลเอกชนในการฟ้องคดีแพ่งจากการกระทำของผู้ได้รับนิรโทษกรรม พระราชบัญญัตินี้จะไม่ตัดสิทธิของบุคคล
ซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการกระทำของบุคคลซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย (ร่างมาตรา 12)

7. กำหนดให้กฎหมายลำดับรองและการกระทำต่าง ๆ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยกำหนดให้ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง คำวินิจฉัย มติหรือ
การกระทำของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ร่างมาตรา 13 วรรคหนึ่ง)

8. กำหนดให้ผู้ได้รับความเดือดร้อน เสียหายจากกฎหมายลำดับรองและการกระทำต่าง ๆ มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด โดยกำหนดให้ผู้ได้รับความเดือดร้อน เสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อยหรือเสียหายจากระเบียบ ประกาศ คำสั่ง คำวินิจฉัย มติหรือการกระทำของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด และให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาวินิจฉัยโดยเร่งด่วนซึ่งต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลาสามสิบวัน (ร่างมาตรา 13 วรรคสอง)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

1) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

2) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

3) สำนักงานศาลยุติธรรม

4) สำนักงานศาลปกครอง

5) สำนักงานอัยการสูงสุด

6) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

7) พรรคการเมือง

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

- กระทรวงยุติธรรม

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

1) ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง

2) ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยกับหลักการนิรโทษกรรมสำหรับความผิดตามกฎหมายที่ผู้กระทำได้กระทำไป
โดยมีเงื่อนไขและมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตามร่างมาตรา 3 หรือไม่ อย่างไร

2. ท่านเห็นด้วยกับข้อยกเว้นสำหรับการกระทำบางการกระทำที่ไม่ได้รับการนิรโทษกรรม
ตามร่างมาตรา 4 หรือไม่ อย่างไร

3. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีกลไกในการนิรโทษกรรม โดยให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม ตามร่างมาตรา 5 หรือไม่ อย่างไร

4. ท่านเห็นด้วยกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อ
การนิรโทษกรรม ตามร่างมาตรา 7 ซึ่งกำหนดให้วินิจฉัยกรณีการกระทำความผิดอันมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือกรณีมีข้อสงสัยว่าการกระทำใดอยู่ภายใต้พระราชบัญญัตินี้ ให้ได้รับการนิรโทษกรรม หรือไม่ อย่างไร

5. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัย
ชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม ในกรณีที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยให้ได้รับการนิรโทษกรรม ตามร่างมาตรา 8 หรือไม่ อย่างไร

6. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดวิธีการเพื่อให้สละสิทธิ์การได้รับนิรโทษกรรม ตามร่างมาตรา 9 หรือไม่ อย่างไร

7. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่
ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในการที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ ตามร่างมาตรา 11 และไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลเอกชนในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการกระทำของบุคคลซึ่งพ้นจากความ
รับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ตามร่างมาตรา 12 หรือไม่ อย่างไร

8. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง คำวินิจฉัย มติหรือการกระทำของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง แต่หากมีผู้เดือดร้อน เสียหาย ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ ตามร่างมาตรา 13 หรือไม่ อย่างไร

9. ท่านเห็นว่าที่ผ่านมาการที่รัฐได้กล่าวหาและดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงออกซึ่งความคิดเห็นอันมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ หรือก่อให้เกิดปัญหา หรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร

10. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)