สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น บรรจุเข้าระเบียบวาระ
ร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ร่างพระราชบัญญัตินี้มีหลักการเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยที่กฎหมายดังกล่าว ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและออกข้อกำหนดต่าง ๆ ที่อาจมีผลจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินสมควรแก่เหตุ และให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการใช้บังคับข้อกำหนด ที่ออกมา โดยได้รับการละเว้นการตรวจสอบถ่วงดุลโดยสภาผู้แทนราษฎรและองค์กรตุลาการเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ในทางปฏิบัตินายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสามารถประกาศและขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปโดยไม่มีองค์กรอื่นใดคัดค้านได้ และพนักงานเจ้าหน้าที่ใช้บังคับข้อกำหนดจนส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างเกินความจำเป็น สมควรต้องกำหนดมาตรฐานในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจตามรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

     โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้

     1. กำหนดคำนิยามของคำว่า "สถานการณ์ฉุกเฉิน" และ "พนักงานเจ้าหน้าที่"

     2. กำหนดขั้นตอน หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงมาตรการการตรวจสอบถ่วงดุลในการใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (ร่างมาตรา 5) เช่น กำหนดให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือในบางเขตบางท้องที่ได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ กรณีไม่อาจขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ทันท่วงที นายกรัฐมนตรีอาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อนแล้วหลังจากนั้นขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายในสามวัน หากไม่ขอภายในสามวัน หรือขอแล้วแต่คณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบ ให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง (ร่างมาตรา 5 วรรคหนึ่ง) นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ภายในเจ็ดวันนับแต่วันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะต้องเสนอแผนการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุผล มาตรการและข้อกำหนดที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และกระบวนการนำไปสู่การยุติการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย (ร่างมาตรา 5 วรรคสาม) เป็นต้น

     3. กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (ร่างมาตรา 5) เช่น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันประกาศ (ร่างมาตรา 5 วรรคสอง) ซึ่งมีความแตกต่างจากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่กำหนดให้ไม่เกินสามเดือนนับแต่วันประกาศ และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ต้องดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขยายระยะเวลาออกไปอีกเป็นคราว ๆ ละไม่เกินสามวัน (ร่างมาตรา 5 วรรคสี่) กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องนำเสนอรายงานผลการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะสิ้นสุดลงด้วยเหตุใด (ร่างมาตรา 5 วรรคหก) กรณีหากจะประกาศสถานการฉุกเฉินอีกครั้งภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเดิมสิ้นสุดลง ระยะเวลาของการประกาศหากน้อยกว่าสามวันจะกระทำมิได้ (ร่างมาตรา 5 วรรคแปด) นอกจากนี้ ภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับตั้งแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หากยังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อวินิจฉัยว่าสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงดำรงอยู่หรือไม่ และให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวัน ในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าสถานการณ์ฉุกเฉินได้สิ้นสุดลงแล้ว ให้นายกรัฐมนตรียกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น (ร่างมาตรา 5 วรรคเก้า) เป็นต้น

     4. กำหนดองค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการบริการสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงอำนาจหน้าที่ (ร่างมาตรา 6)

     5. กำหนดขั้นตอนและแนวทางในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามประกาศในร่างมาตรา 11 (1) โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจหรือศาลอาญาเพื่อขออนุญาตดำเนินการ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง (ร่างมาตรา 12 วรรคหนึ่ง) แตกต่างจากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่กำหนดให้ควบคุมตัวได้ไม่เกินเจ็ดวัน และการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวจะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของญาติที่จะได้เข้าเยี่ยมบุคคลนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ร่างมาตรา 12 วรรคสอง)

     6. กำหนดให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และหากผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาวินิจฉัยโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ให้แล้วเสร็จภายในสามวัน (ร่างมาตรา 16)

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

     1. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

     2.สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

     3. สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

     4. สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม

     5. สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

     6. สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

     7. สภาความมั่นคงแห่งชาติ

     8. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

     9. กรมการปกครอง

     10. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

     11. กองบัญชาการกองทัพไทย

     12. กองทัพบก

     13. กองทัพเรือ

     14. กองทัพอากาศ

     15. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

     16. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

     17. สำนักงานศาลปกครอง

     18. สำนักงานศาลยุติธรรม

     19. สำนักงานอัยการสูงสุด

     20. ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันประกาศ ตามร่างมาตรา 5 วรรคสอง หรือไม่ อย่างไร

     2. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ภายในเจ็ดวันนับแต่วันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยต้องเสนอแผนการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุผล มาตรการและข้อกำหนดต่อสภาผู้แทนราษฎร ตามร่างมาตรา 5 วรรคสาม หรือไม่ อย่างไร

     3. ท่านเห็นด้วย ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ต้องดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขยายระยะเวลาออกไปอีกเป็นคราว ๆ ละไม่เกินสามวัน ตามร่างมาตรา 5 วรรคสี่ หรือไม่ อย่างไร

     4. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้กรณีหากจะประกาศสถานการฉุกเฉินอีกครั้งภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเดิมสิ้นสุดลง โดยจะดำเนินการประกาศน้อยกว่าระยะเวลาสามวันจะกระทำมิได้ ตามร่างมาตรา 5 วรรคแปด หรือไม่ อย่างไร

     5. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับตั้งแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หากยังคงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ ให้บุคคลสามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อวินิจฉัยว่าสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงดำรงอยู่ให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวัน ตามร่างมาตรา 5 วรรคเก้า หรือไม่ อย่างไร

     6. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดระยะเวลาในการควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามประกาศในร่างมาตรา 11 (1) โดยสามารถควบคุมตัวได้ไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง และการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวจะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของญาติที่จะได้เข้าเยี่ยมบุคคลนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามร่างมาตรา 12 หรือไม่ อย่างไร

     7. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามร่างพระราชบัญญัตินี้ให้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามร่างมาตรา 16 หรือไม่ อย่างไร

     8. ท่านเห็นว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด

     9. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)