สถานะ : นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

                      แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เพื่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดและกรุงเทพมหานคร มีอำนาจในการตราข้อบัญญัติเพื่อกำหนดเขตที่ดินจะเวนคืน นอกเหนือจากการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนของคณะรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาวซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 โดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับการบังคับใช้ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา เนื่องจากอำนาจในการอนุมัติการริเริ่มกระบวนการเวนคืนและได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอันจำเป็นในกิจการสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น จึงควรมีการกำหนดให้มีผู้มีอำนาจอนุมัติกรริเริ่มกระบวนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นองค์กรบริหารส่วนจังหวัดและกรุงเทพมหานครด้วย นอกเหนือจากคณะรัฐมนตรีเพียงฝ่ายเดียว เพื่อให้องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินภารกิจจำเป็นในกิจการสาธารณูปโภค หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างรวอดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

     1. กรมที่ดิน

     2. กรมทางหลวง

     3. กรมทางหลวงชนบท

     4. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

     5. กรุงเทพมหานคร

     6. ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดนิยามของคำว่า "ข้อบัญญัติท้องถิ่น" หรือไม่

     2. ท่านเห็นด้วยกับกรณีที่หากที่ดินที่จะเวนคืนอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดใดหรือเขตกรุงเทพมหานคร จะต้องมีการตราข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นหรือเขตกรุงเทพมหานครหรือไม่

     3. ท่านเห็นด้วยกับกรณีที่การตราข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเขตกรุงเทพมหานครตามข้อ 2. ต้องนำหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาวซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับโดยอนุโลมหรือไม่

     4. ท่านเห็นว่าปัจจุบันการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ มีปัญหาอย่างไรบ้าง และร่างพระราชบัญญัตินี้จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพียงใด

     5. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่นๆ (ถ้ามี)