ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ฉบับนี้ เสนอแก้ไขเนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและดำเนินคดีความผิดที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งความผิดที่เกี่ยวเนื่องดังกล่าวอาจมีผู้เสียหายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแต่กฎหมายมิได้ให้สิทธิผู้เสียหายในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดไว้ด้วย หากปรากฏว่าคณะกรรมาการ ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณาหรือมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลก็จะทำให้ผู้เสียหายไม่มีสิทธิในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้
เพื่อให้การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจการใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนและรอบด้านมากขึ้น จึงเสนอร่างร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ฉบับนี้ เพื่อกำหนดให้สิทธิแก่ผู้เสียหาย สามารถฟ้องคดีเองได้ในกรณีที่คณะกรรมากร ป.ป.ช.ไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณา หรือกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลก็จะต้องส่งรายงานพร้อมความเห็นให้อัยการสูงสุดได้พิจารณา หากอัยการสูงสุดเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลความผิดก็สามารถส่งฟ้องได้เอง เพื่อจะได้ใช้สิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้กระทำความผิดได้ด้วย แต่หากอัยการสูงสุดไม่ยื่นฟ้องและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มิได้ยื่นฟ้องคดีด้วย
ก็ให้สิทธิผู้เสียหายได้ฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง
ตารางเปรียบเทียบ (Download เอกสารประกอบ)
1. คณะกรรมาการ ป.ป.ช.
2. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
3. อัยการสูงสุด
4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
5. ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรเกี่ยวกับการกำหนดคำนิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” เพิ่มขึ้นมาใน
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กับการกำหนดให้อัยการสูงสุดมีอำนาจพิจารณาทบทวนความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่เห็นว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กับการกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลที่มีเขตอำนาจ หากอัยการสูงสุดพิจารณาทบทวนแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กับการกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีเพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการสูงสุดได้ ในคดีที่อัยการสูงสุดทบทวนมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับเรื่องที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องไว้พิจารณาแล้วให้สิทธิผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง
6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรเกี่ยวกับการกำหนดบทเฉพาะกาลในเรื่องกล่าวหาต่าง ๆ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหานั้นๆไม่มีมูล ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ โดยให้สิทธิผู้เสียหายยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อขอให้พิจารณาและมีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมก่อนมีความเห็นได้ตามที่เห็นสมควร หากอัยการสูงสุดเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลความผิดอาญาให้มีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหามาส่งเพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป
7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรกับการกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องส่งรายงานพร้อมความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ไปยังอัยการสูงสุดภายใน 30 วัน
8. ปัจจุบันการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ท่านคิดว่ามีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร
9. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)