สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... มีหลักการเพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อสร้างโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมมากขึ้น ไม่ถูกเลือกปฏิบัติทั้งด้วยกฎหมายและความอคติ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้

     โดยที่ประเทศไทยมีชาติพันธุ์กลุ่มน้อยหลากหลายกลุ่ม อยู่อาศัยกระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเชื่อตามจารีตประเพณีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ได้แก่ กลุ่มตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่สูง กลุ่มที่อาศัยตั้งถิ่นฐานบนเกาะแก่งหรือชายฝั่งซึ่งดำรงชีพด้วยการทำประมง และมีวิถีชีวิตพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล กลุ่มที่อาศัยในป่าซึ่งดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า และกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานบนพื้นราบซึ่งมีวิถีชีวิตกลมกลืนกับคนไทยทั่วไปแต่ยังคงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเอง แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะได้บัญญัติรับรองให้กลุ่มชาติ พันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง มีสถานะภาพที่เสมอภาคเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป และมีสิทธิเสรีภาพเฉกเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะมาตรา 27 ได้บัญญัติว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับ ความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างทางเชื้อชาติ และมาตรา 70 รัฐจึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ประกอบกับประเทศไทยยังให้การรับรองกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เช่น ปฏิญญา สหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ แต่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ก็ยังมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ บรรดาที่กฎหมายบัญญัติไว้จริง ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง รวมทั้งขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกิจกรรมหรือกิจการของรัฐหรือเอกชนที่อาจกระทบต่อสิทธิวิถีชีวิตและชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์  ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงเป็นการบัญญัติรับรองสิทธิ และการห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ หรือการกระทำการใด ๆ ที่นำไปสู่ความเกียจชัง หรืออคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์  โดยมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติและระดับจังหวัดเพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตป่า เนื่องจากปัจจุบันยังมีกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ที่ยังจำกัดสิทธิการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จำกัดสิทธิในการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ยังมีคุณภาพชีวิตที่ล้าหลัง

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

     1. สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

     2. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

     3. กระทรวงวัฒนธรรม

     4. กระทรวงมหาดไทย

     5. กระทรวงศึกษาธิการ

     6. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

     7. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

     8. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

     9. กรมการพัฒนาชุมชน

     10. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

     11. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

     12. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

     13. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     14. มูลนิธิชุมชนไท

     15. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

     16. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)

     17. ศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT)

     18. มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม (IPF)

     19. มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ (WISE)

     20. สมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ (สสช.)

     21. มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ (พชช.)

     22. เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย (คสช.)

     23. เครือข่ายเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง (TKN)

     24. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (KNCE)

     25. เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเล

     26. เครือข่ายชาติพันธุ์ชาวเล

     27. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดบทนิยามคำว่า "กลุ่มชาติพันธุ์" "ชนเผ่าพื้นเมือง" "การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ" "ชุมชน" "พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง"

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการบัญญัติรับรองสิทธิและการเข้าถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีบนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมและการส่งเสริมความเข้มแข็งของขุมชนตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง การมีส่วนร่วมและการกำหนดตนเอง สิทธิในความเสมอภาค และการห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ หรือการกระทำการใดๆ ที่นำไปสู่ความเกียจชัง หรืออคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย มาตรการ ระเบียบและแผนปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งใน ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ตลอดจนดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เป็นต้น

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัด

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยการให้อำนาจรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งชาติประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองในพื้นที่ชุมชนหนึ่ง ๆ หรือหลายชุมชนรวมกันได้ โดยความเห็นชอบของประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย

     6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ทำหน้าที่หน่วยงานธุรการของคณะกรรมการตามร่างพระราชบัญญัตินี้

     7. ข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะอื่นๆ (ถ้ามี)