สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายอภิชาติ ศิริสุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดินที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อให้ชุมชนได้มีที่ดินทำประโยชน์ร่วมกันในการจัดการด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมถึงให้มีส่วนร่วมในการดูแล รักษา และจัดสรร การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  พร้อมทั้งให้ชุมชนเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

     โดยที่ประมวลกฎหมายที่ดินมิได้บัญญัติรับรองให้ชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินร่วมกันเป็นผู้ทรงสิทธิในที่ดิน ส่งผลให้ชุมชนที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินร่วมกันขาดความชอบธรรม ตามประมวลกฎหมายที่ดิน อีกทั้งเงื่อนเวลาของการทอดทิ้งหรือไม่ทำประโยชน์ในที่ดินของผู้มีกรรมสิทธิ์ ตามโฉนดที่ดินหรือมีสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งถือว่าเป็นการสละสิทธิในที่ดิน โดยเจตนามีระยะเวลานานเกินไป กระทบต่อประโยชน์ที่ควรได้รับจากการเข้าใช้ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนั้น นอกจากนี้การดำเนินการเพื่อให้ที่ดินที่ถูกทิ้งร้างตกเป็นของรัฐยังเป็นอำนาจของราชการส่วนกลางซึ่งมีความล่าช้าและไม่สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น รวมถึงการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้กับที่ดินที่มีอาณาเขตติดต่อ คาบเกี่ยวหรืออยู่ในเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งพิจารณาเพียงหลักฐานระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศหรือระวางรูปถ่ายทางอากาศอาจไม่เพียงพอให้ทราบได้ว่ามีการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจริง อันส่งผลต่อการออกโฉนดที่ดิน คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้สามารถจัดสรรที่ดินของรัฐให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง สมควรกำหนดรับรองสิทธิของชุมชนในการเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินตามที่ได้รับอนุญาตโดยให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ที่รับผิดชอบ และปรับปรุงเงื่อนไขการออกโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้สอดคล้องกับบริบท และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ลดภาระที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยไม่จำเป็น และมีความโปร่งใสในการตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

     1. กรมที่ดิน

     2. สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

     3. กรมป่าไม้

     4. สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม

     5. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

     6. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

     7. สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย

     8. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการที่กฎหมายบัญญัติรับรองให้ชุมชนที่ได้รับอนุญาต มีสิทธิในการเข้าถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินร่วมกันตามวิถีชีวิตของชุมชนในการดูแล รักษา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเงื่อนเวลาของการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดินให้สั้นลง คือการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์เกิน 5 ปีติดต่อกันสำหรับที่ดินที่เป็นโฉนด  หรือเกิน 3 ปีติดต่อกันสำหรับที่ดินที่เป็นสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้ถือว่าเป็นการสละสิทธิในที่ดินโดยเจตนา

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ที่ให้ยกเลิกการใช้คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดของศาลเพื่อประกอบการขอออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ที่กำหนดให้ผู้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินที่มีอาณาเขตติดต่อคาบเกี่ยวหรืออยู่ในเขตที่ดินของรัฐ สามารถใช้หลักฐานอื่น (นอกจากระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศหรือระวางรูปถ่ายทางอากาศ) ที่แสดงว่ามีการทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวจริง ประกอบการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ได้รับการพิสูจน์สิทธิเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นบุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้

     6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ที่กำหนดให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวน การออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการที่มาจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

     7. ท่านเห็นว่าประมวลกฎหมายที่ดินที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีปัญหาในด้านใดบ้างหรือไม่ อย่างไร

     8. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)