สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นางสาววรรณวิภา ไม้สน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อให้การคุ้มครองผู้ใช้แรงงานกว่าเจ็ดแสนคนในหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ใช้แรงงานโดยรวม เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มเวลาเรียนรู้สำหรับแรงงานเพื่อนำมาพัฒนาตนเอง โดยให้หน่วยงานภาครัฐเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน

แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงานในประเด็นดังต่อไปนี้

                   1. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับรวมถึง ราชการส่วนกลางราชการภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา ในกรณีที่หน่วยงานข้างต้นได้มีพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ หรือกฎหมายอื่นใดใช้บังคับแล้ว ให้ใช้กฎหมายนั้น แต่หากมีบทบัญญัติใดกำหนด   สิทธิประโยชน์ของผู้ปฏิบัติงาน แรงงาน ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง หรือมาตรฐานในการคุ้มครองแรงงานต่ำกว่าที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4)

                    2. ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดหรือเลี้ยงดูบุตรครรภ์หนึ่ง รวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน และรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมเพิ่มเติมอีกเก้าสิบวัน และกำหนดให้มารดาของบุตรสามารถมอบสิทธิการลงเลี้ยงดูบุตรส่วนของตนให้บิดาตามกฎหมายของบุตรหรือคู่สมรสตามกฎหมายของตนได้ไม่เกินเก้าสิบวัน ในกรณีไม่มีบิดาหรือมารดาให้ผู้ปกครองตามกฎหมายได้รับสิทธิ (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 41)

ตารางเปรียบ (เอกสารประกอบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. หน่วยงานระดับกระทรวง
  2. ศาลและหน่วยธุรการ
  3. องค์กรอัยการ   
  4. สำนักงานอัยการสูงสุด
  5. องค์กรอิสระ
  6. หน่วยงานของรัฐสภา
  7. รัฐวิสาหกิจ
  8. ภาคประชาสังคม
  9. ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับกับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ

ในกรณีที่หน่วยงานข้างต้นได้มีกฎหมายใช้บังคับแล้วให้ใช้กฎหมายนั้น แต่หากมีบทบัญญัติใดกำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ปฏิบัติงาน แรงงาน ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง ต่ำกว่าที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้แทน

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับแก้ไขให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดหรือเลี้ยงดูบุตรต่อหนึ่งครรภ์ไม่เกิน 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 90 วัน และรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมเพิ่มอีก 90 วัน และให้มารดาสามารถมอบสิทธิการลาส่วนของตนให้บิดา
ตามกฎหมายของบุตรหรือคู่สมรสตามกฎหมายได้ไม่เกิน 90 วัน

3. ท่านเห็นว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาอย่างไรบ้าง

4. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ  (ถ้ามี)